ข่าวสารและบทความ

ประกันสุขภาพ : มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจ ฟื้นฟูทุกชีวิตจากโควิด-19

ประกันสุขภาพ : มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจ ฟื้นฟูทุกชีวิตจากโควิด-19

 

ภายหลังจากที่กรมควบคุมโรคได้ออกแถลงขอความร่วมมือจากประชาชนให้ดูแลรักษาตัวเองด้วยการอยู่บ้านและออกเดินทางไปยังที่ชุมชนให้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โรคโควิด-19 ในช่วง Golden Period ของประเทศไทยที่จะชี้ชะตาว่า เปอร์เซ็นต์การเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อจะเป็นไปในทิศทางที่สามารถควบคุมได้หรือไม่? 

นอกจากการออกมาตรการต่าง ๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสแล้ว หน่วยงานอื่น ๆ ยังได้ร่วมกันออกมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกหลายมาตรการด้วยกัน จะมีอะไรบ้าง วันนี้ สินมั่นคง ประกันสุขภาพ มีข้อมูลมาฝากกันค่ะ

 

ดูแลเยียวยา “แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม”

 

1. ชดเชยรายได้แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว

อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม โดยจะเป็นการสนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) โดยสามารถเริ่มลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ "เราจะไม่ทิ้งกัน.com" ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป  หรือ หากไม่สะดวกสามารถลงทะเบียนผ่านสาขาของธนาคารรัฐ 3 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และ ธนาคารกรุงไทย

ภายหลังจากลงทะเบียนแล้ว ทางกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติว่ารายชื่อดังกล่าวอยู่ในข่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ มาตรา 40 หรือไม่ และจะได้รับเงินเยียวยาภายใน 5 วันหลังลงทะเบียนผ่านระบบพร้อมเพย์ หรือ บัญชีธนาคารของตนเอง ซึ่งเงินจะเริ่มโอนผ่านธนาคารกรุงไทยรอบแรกในเดือนเมษายน 2563 เป็นต้นไป

 

 

 2. สินเชื่อฉุกเฉิน

เพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวโดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท) วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน สามารถติดต่อรับคำขอสินเชื่อได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

 

 

3. สินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม

เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวแก่ประชาชนที่มีรายได้ประจำ แต่ต้องใช้หลักประกัน โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี ติดต่อรับคำขอสินเชื่อได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563


4. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากสำนักงานธนานุเคราะห์

โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในนามของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) โดยคิด ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.10 ต่อปี และ สธค. คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.125 ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี


5. จัดฝึกอบรมเพิ่มทักษะ เสริมอาชีพ

เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 หรือผู้ที่สนใจ พร้อมทั้งจัดทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)

 

 

6. เลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น


7. เพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ

โดยเพิ่มวงเงินหักลดหย่อน ค่าเบี้ยประกันสุขภาพจากเดิมจ่ายตามจริงไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป 


8. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ให้ไม่มีภาระภาษี เป็นค่าตอบแทนพิเศษจากการปฏิบัติงานและมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับ 

    • ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยจากไวรัส COVID-19 

    • ค่าตอบแทนบุคคลที่มิใช่ข้าราชการหรือข้าราชการ ที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข 

 

ดูแลเยียวยา “ผู้ประกอบการ” 

 

1. สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ

และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจของ ผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 สำหรับ 2 ปีแรก ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี ติดต่อรับคำขอสินเชื่อได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 
สำหรับมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ระยะที่ 1 นั้น คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินเป็นผู้นำหลักในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 

 

 

2. เลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล

ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนี้


    • รอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 (ภ.ง.ด. 50) สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2563 ให้ยืดเวลาออกไปเป็นภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 

    • รอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 (ภ.ง.ด. 51) สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2563 ให้ยืดเวลาออกไปเป็นภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากการเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด. 50 ประมาณ 120,000 ล้านบาท และจากการเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด. 51 ประมาณ 30,000 ล้านบาท


3. เลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี ทุกประเภทที่กรมสรรพากรจัดเก็บ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ 

    • ผู้ประกอบการที่ต้องปิดสถานประกอบการตามคำสั่งของทางราชการ เช่น กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น 

    • ผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เฉพาะที่มีเหตุอันสมควรให้เลื่อนเวลาออกไป โดยกระทรวงการคลังจะพิจารณาเป็นรายกรณี 


4. ขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จากเดิมกรมสรรพสามิตให้ยื่นขอชำระภาษีภายใน 10 วันเป็นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรมหรือคลังสินค้าทัณฑ์บน โดยให้ดำเนินการเป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563)


5. ขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของสถานบริการ กรมสรรพสามิตขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของการประกอบกิจการสถานบริการ ได้แก่ ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ โดยรวมถึงสถานที่ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 นาฬิกา และสถานอาบน้ำ อบตัว หรือนวด ตลอดจนกิจการเสี่ยงโชคประเภทสนามแข่งม้า และสนามกอล์ฟ ให้ยื่นแบบรายการและชำระภาษีได้ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563


6. ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา (COVID-19) ตามรายการที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด ตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงการคลังมีผลบังคับใช้ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงการรักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้มากขึ้น


7. มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียม เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้

    • ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้

    • ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนและการจำนอง อสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน และห้องชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดสำหรับกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามกรณีที่กำหนด ซึ่งกรมที่ดินจะดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าว ร้อยละ 0.01 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564


ถึงแม้รัฐบาลจะมีมาตรการในการควบคุม ป้องกัน ฟื้นฟู และเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ออกมามากมายเพียงใด แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการกักตัวเองอยู่บ้าน 14 วัน สำหรับผู้ตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากประกาศของกระทรวงสาธารณสุข คงเป็นการยากที่เจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมดูแลสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามไปจนยากที่จะรับมือ 


ช่วยคุ้มครองค่ารักษาแทนคุณ ด้วยประกันสุขภาพเหมาจ่ายจากสินมั่นคงประกันภัย ที่สุดของความคุ้มครองเรื่องสุขภาพ ที่ให้ความคุ้มครองทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ช่วยให้คุณไม่ยุ่งยากเมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ด้วยวงเงินค่ารักษาพยาบาลแบบเหมาจ่ายตามจริงสูงสุด 500,000 บาทต่อปี ไม่ต้องสำรองจ่าย สนใจรายละเอียด คลิก www.smk.co.th/producthealthdetail/7 หรือ โทร. 1596 ตลอด 24 ชั่วโมง
สินมั่นคงประกันสุขภาพ ..เราประกัน คุณมั่นใจ..

Photo source: freepik.com