ข่าวสารและบทความ

ประกันสุขภาพ : วัดไข้ให้ถูกวิธี ป้องกันโควิด-19 ระบาด

ประกันสุขภาพ : วัดไข้ให้ถูกวิธี ป้องกันโควิด-19 ระบาด


ช่วงนี้หลายคนอาจวัดไข้กันบ่อยขึ้น ทั้งวัดไข้ตัวเองหรือถูกวัดก่อนเข้าสถานที่ต่างๆ เพื่อคัดกรองผู้ป่วยจากการระบาดของไวรัสโควิด-19  ยิ่งใครเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องกักตัวเอง 14 วัน อาจวัดไข้ถี่มากขึ้นเพราะมีความกังวลใจกลัวจะติดเชื้อ แล้ววิธีวัดไข้ที่เราใช้วัดกันทุกวันนี้ถูกต้องหรือเปล่า สินมั่นคง ประกันสุขภาพ มีจึงมีรายละเอียดเกี่ยวกับการวัดไข้ มาบอกกัน

 


อุณหภูมิเท่าไรถึงมีไข้ ?

อุณหภูมิปกติของคนเราอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส ถ้าวัดอุณหภูมิได้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส แสดงว่ามีไข้

 

 

มารู้จักกับอุปกรณ์วัดไข้กัน

 

1. เครื่องวัดอุณหภูมิแบบแท่งแก้ว

ใช้วัดอุณหภูมิทางปาก หรือทางรักแร้ในผู้ใหญ่หรือเด็กโต แต่ไม่เหมาะสำหรับใช้ในเด็กเล็ก ปรอทแก้ว
ข้อดี คือ อ่านค่าอุณหภูมิมีความน่าเชื่อถือและมีความถูกต้อง 
ข้อเสีย คือ ใช้เวลาในการวัดนาน จึงไม่เหมาะสมในการคัดกรองผู้ป่วยจำนวนมาก


2. เครื่องวัดอุณหภูมิแบบดิจิทัล

พัฒนามาจากแท่งแก้ว หน้าจอแสดงผลเป็นแบบตัวเลข ทำให้ง่ายต่อการอ่านค่า เครื่องมือชนิดนี้นิยมใช้ในการวัดอุณหภูมิทางปาก หรือทางรักแร้ในผู้ใหญ่หรือเด็กโต รวมถึงใช้ในการวัดอุณหภูมิทางทวารของเด็กเล็กด้วย 
ข้อดี คือ อ่านค่าอุณหภูมิมีความน่าเชื่อถือและมีความถูกต้อง ใช้เวลาในการวัดน้อยกว่าแบบแท่งแก้ว 
ข้อเสีย คือ ยังไม่รวดเร็วในการใช้คัดกรองคนจำนวนมาก


3. เครื่องวัดอุณหภูมิในช่องหู

ใช้หลักการวัดอุณหภูมิความร้อนที่แพร่ออกมาของร่างกายโดยไม่สัมผัสกับอวัยวะที่วัด มีหน้าจอแสดงผลเป็นแบบตัวเลขทำให้ง่ายต่อการอ่านค่า บริเวณปลายมีเซ็นเซอร์วัดรังสีอินฟราเรดที่ร่างกายแพร่ออกมา โดยเครื่องมือได้ออกแบบให้วัดที่บริเวณเยื่อแก้วหู 
ข้อดี คือ อ่านค่าอุณหภูมิได้รวดเร็ว เหมาะสมกับการคัดกรองคนจำนวนมาก 
ข้อควรระวัง คือ การปนเปื้อนและติดเชื้อจากทางหูกรณีไม่เปลี่ยนปลอกหุ้ม


4. เครื่องวัดอุณหภูมิทางหน้าผาก

เป็นเครื่องที่พัฒนาให้วัดอุณหภูมิได้อย่างรวดเร็ว เพื่อใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยจำนวนมาก มีหน้าจอแสดงผลเป็นแบบตัวเลข บริเวณปลายมีเซ็นเซอร์วัดรังสีอินฟราเรดที่ผิวหนัง โดยเครื่องมือได้ออกแบบให้วัดที่บริเวณหน้าผาก 
ข้อดี คือ อ่านค่าอุณหภูมิได้รวดเร็วเหมาะสมกับการคัดกรองคนจำนวนมาก 
ข้อควรระวัง คือ ระยะการวัดที่ห่างเกินไปทำให้การวัดผิดพลาดได้ การวัดที่บริเวณอื่น เช่น ช่องหู บริเวณฝ่ามือ อาจทำให้การวัดผิดพลาด 

 

 

วิธีการวัดไข้

1.วิธีการวัดไข้ทางปาก 
ให้วางอุปกรณ์วัดอุณหภูมิไว้ใต้ลิ้น

วิธีการวัด
จับปรอทให้แน่น สลัดให้ปรอทลงสู่กระเปาะ ให้ค่าอยู่ที่ 35 องศาเซลเซียสก่อน เวลาที่จะวัดให้อ้าปาก กระดกลิ้นขึ้นเล็กน้อยแล้วก็วางเครื่องวัดอุณหภูมิไว้ใต้ลิ้น ปิดปากให้สนิท อมปรอทให้ส่วนหัวสีเงินอยู่ใต้ลิ้น เพราะเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดจำนวนมาก จะทำให้ได้อุณหภูมิที่ถูกต้องที่สุด อมปรอทไว้นานเกิน 3 นาที

ข้อควรระวัง
ขณะวัดปรอทไม่ควรหายใจทางปาก และไม่ควรดื่มน้ำร้อนหรือน้ำเย็นก่อนวัดปรอท 10-15 นาที


2.วิธีการวัดไข้ทางรักแร้ 
หนีบอุปกรณ์วัดอุณหภูมิไว้ที่รักแร้

วิธีการวัด
จับให้แน่นสลัดให้ปรอทลงสู่กระเปาะ เช็ดรักแร้ให้แห้ง วางเครื่องวัดอุณหภูมิให้กระเปาะอยู่ช่องกึ่งกลางรักแร้ หุบแขนให้แนบชิดลำตัว ควรทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที แล้วจึงนำออกจากรักแร้ ยกให้อยู่ในระดับสายตา อ่านผลที่วัดได้


3. วิธีการวัดไข้ทางหู
ใช้วัดอุณหภูมิแบบดิจิทัลทางช่องหู

วิธีการวัด
จับใบหูยกขึ้นและดึงไปด้านหลัง ใส่เครื่องวัดอุณหภูมิเข้าไปในช่องหูรอเสียงสัญญาณ


4. วิธีการวัดไข้ทางหน้าผาก
วางอุปกรณ์วัดอุณหภูมิแบบดิจิทัลที่ผิวหนัง เช่น หน้าผาก

วิธีการวัด
เช็ดหน้าผากให้แห้ง วัดอุณหภูมิโดยห่างจากหน้าผาก 1 - 5 ซม.


ข้อควรระวังในการวัดไข้ 

กิจกรรมบางอย่างอาจมีผลทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นได้ เช่น
- การสูบบุหรี่หรือรับประทานอาหาร  ควรรออย่างน้อย 30 นาทีก่อนวัดอุณหภูมิร่างกาย
- การออกกำลังกาย  ควรรออย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนวัดอุณหภูมิร่างกาย
- การอาบน้ำ  ควรรออย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนวัดอุณหภูมิร่างกาย


อย่างที่ทราบกันดีว่า หากเรามีไข้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส มีความเป็นไปได้ว่าเราอาจจะเสี่ยงโควิด-19 แต่ต้องประกอบกับมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น เจ็บคอ ไอ จาม น้ำมูกไหล และหายใจเหนื่อยหอบ หากพบควรรีบปรึกษาแพทย์  กรณีตรวจแล้วพบไม่มีไข้ แต่หากมีอาการระบบทางเดินหายใจ ก็ควรเฝ้าสังเกตอาการ ไม่ออกไปข้างนอกบ้าน อยู่ในบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อให้คนอื่น  เป็นการป้องกันตัวเองและหยุดการส่งต่อเชื้อนั้นเอง

เพิ่มความคุ้มครองด้านสุขภาพ  เพื่อรับมือกับความเจ็บป่วย ด้วยประกันสุขภาพ จากสินมั่นคงประกันภัย มีแผนประกันสุขภาพที่หลากหลาย ตอบรับกับการดูแลทุกช่วงวัย คลิก www.smk.co.th/PreHealth.aspx หรือ โทร. 1596 

ที่มา: สสส
Photo source: freepik.com