ข่าวสารและบทความ

ประกันสุขภาพ : ป้องกันอย่างไร ไม่ให้ลูกรักถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ประกันสุขภาพ : ป้องกันอย่างไร ไม่ให้ลูกรักถูกล่วงละเมิดทางเพศ

 

เพราะลูกเปรียบได้ดังแก้วตาดวงใจของพ่อและแม่ แต่ด้วยสภาพสังคมในปัจจุบันโดยเฉพาะในภาวะโควิด-19 ทำให้พ่อแม่ส่วนใหญ่จำเป็นจะต้องฝากบุตรหลานไว้ให้อยู่ในความปกครองของญาติสนิทหรือคนใกล้ชิด แต่ก็ใช่ว่า “บ้าน” หรือ “ครอบครัว” ของญาติสนิทหรือคนใกล้ชิด จะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคนเสมอไป (อ่าน 5 วิธีสังเกตบุตรหลาน อาจโดนล่วงละเมิดทางเพศ คลิก)  เมื่อต้องอยู่ห่างไกลกันแบบนี้ แล้วจะมีวิธีการอย่างไรในการดูแลหรืออบรมสั่งสอนบุตรหลานให้รู้จักวิธีป้องกันตัวเองจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศจากคนใกล้ชิด สินมั่นคง ประกันสุขภาพ มีข้อมูลมาฝากกันค่ะ

 

 

สอนลูกรักอย่างไร ให้ปลอดภัยจากการถูกล่วงละเมิด

ข้อมูลจากสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  อ้างอิงข้อมูลจากแฟนเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา โดย “หมอมิน-พญ.เบญจพร ตันตสูติ” จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และแอดมินเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา ระบุถึงวิธีดูแลสั่งสอนบุตรหลาน ให้ปลอดภัยจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศไว้ว่า

 

1. สอนให้รู้จักร่างกาย ให้ลูกเรียนรู้เรื่องอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงอวัยวะเพศโดยใช้ชื่อที่เด็กเข้าใจ ไม่ต้องเป็นชื่อทางการ แต่เมื่อถึงวัยที่ลูกรู้ความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิง พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกเรียกด้วยคำที่ถูกต้อง เพราะเมื่อเกิดปัญหาและลูกต้องการบอกเล่า การใช้คำทางการทำให้มีความเข้าใจตรงกันจะช่วยอธิบายเรื่องราวได้อย่างถูกต้อง


2. สอนเรื่องเพศให้เหมาะสมกับวัย เด็กในวัยอนุบาลที่มีอายุ 3 – 5 ปี จะเป็นช่วงที่สนใจเรื่องเพศได้บ่อย โดยแสดงออกมาอย่างเปิดเผย จะคอยซักถามว่าแม่คลอดหนูมาอย่างไร หนูเกิดมาทางไหน ทำไมหนูถึงไม่เหมือนพี่ชาย พ่อแม่ควรตอบสิ่งที่เด็กอยากรู้ง่าย ๆ ตรงไปตรงมา เท่าที่เด็กวัยนี้ควรจะรู้ ความสนใจของเด็กก็จะได้รับการตอบสนอง สุดท้ายก็จะเปลี่ยนความสนใจไปยังสิ่งอื่นแทน 

 

 

 3. บอกพื้นที่ส่วนตัว บอกลูกว่าส่วนไหนบนร่างกายที่คนอื่นห้ามสัมผัส ห้ามจ้องมอง ห้ามถ่ายรูป เช่น หน้าอก และอวัยวะเพศ ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถทำสิ่งนี้กับลูกได้ ส่วนไหนบนร่างกายที่พ่อแม่เท่านั้นที่สัมผัสได้ และเมื่อลูกโตเป็นหนุ่มสาวแล้วพ่อแม่ต้องคอยดูแล แนะนำ โดยให้ระมัดระวังการสัมผัสร่างกายของลูก และให้ลูกมีพื้นที่ส่วนตัว เช่น การแยกห้องนอน


4. เน้นย้ำสิทธิในร่างกายตัวเอง ย้ำกับลูกเสมอว่าลูกมีสิทธิในร่างกายของลูกคนเดียวเท่านั้น หากไม่ยอมให้ใครมาสัมผัส ไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิมาสัมผัส นอกจากการสัมผัสเพื่อทำความสะอาดหรือการรักษาจากแพทย์ หากใครมาสัมผัสแล้วรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ ต้องกล้าบอกไปว่าไม่ชอบหรือไม่พอใจ


5. สอนให้รู้จักปฏิเสธ ถ้ามีคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่มาสัมผัสพื้นที่สงวนของร่างกาย สอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธ ต้องพูดไปเลยว่า “ไม่ได้” และอาจจะส่งเสียงขอความช่วยเหลือดัง ๆ และวิ่งหนีออกมาไม่ต้องเกรงใจ


6. ให้รู้จักสัมผัสที่ปลอดภัย บอกลูกว่าสัมผัสแบบใดคือสัมผัสที่ปลอดภัย สามารถทำได้ เช่น สัมผัสของ พ่อแม่ ญาติ หรือพี่เลี้ยง ที่จำเป็นต้องช่วยลูกในการทำความสะอาดร่างกาย สัมผัสของแพทย์เพื่อตรวจรักษาร่างกาย แต่บอกลูกว่าพ่อแม่จะอยู่ด้วยเสมอ หรือบางครั้งการสัมผัสของครูในวิชาเรียนบางอย่างอาจต้องมีการสัมผัสกันเล็กน้อย


7. อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า สอนลูกว่าอย่าไว้ใจคนเเปลกหน้าที่มาคุยเด็ดขาดหรืออ้างว่ารู้จักกับพ่อเเม่ก็ตาม ถึงเเม้คนเหล่านั้นจะเอาขนมมาให้กินก็อย่ากินเด็ดขาด ไม่ต้องเกรงใจแม้ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นคนที่เด็กเคารพก็ตาม เนื่องจากคนที่ทำอนาจารบางครั้งอาจจะเป็นคนใกล้ชิด


8. ไม่ใจอ่อนหรือปิดบัง กำชับลูกเสมอว่า ไม่ว่าคนที่ทำลูกจะขอร้องหรือขู่อย่างไร หากลูกไม่พอใจในสิ่งที่ถูกกระทำ ลูกต้องบอกพ่อแม่ทันที ไม่ต้องปิดเป็นความลับ ไม่มีใครทำอะไรลูกได้เด็ดขาด เพื่อให้ลูกมั่นใจว่าพ่อแม่สามารถปกป้องเขาได้


9. พูดคุยกับลูกเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ หาบรรยากาศสบาย ๆ สอนให้ลูกเข้าใจตนเอง และความหมายการล่วงละเมิด สิทธิที่จะปกป้องตัวเอง หากลูกสงสัยจะได้ถามพ่อแม่ได้ตรง ๆ ไม่รู้สึกกดดัน เพื่อที่ลูกเกิดความวางใจและมั่นใจ

 

 

รับมืออย่างไร เมื่อสงสัยว่าลูกรักถูกล่วงละเมิดทางเพศ


ข้อมูลจากมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก  (The Center for the Protection of Children’s Rights Foundation ) ซึ่งมีหน้าที่ในการทำให้สังคมไทยได้รับรู้ถึงสภาพความเป็นจริงของปัญหาการละเมิดสิทธิเด็ก ได้ให้คำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เมื่อเราสงสัยหรือทราบว่าเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไว้ดังนี้


1. พร้อมรับฟังและช่วยเหลือเด็กในทุกกรณี เมื่อเด็กแสดงท่าทีว่า ต้องการบอกเล่าเรื่องราวที่เขารู้สึกว่าเป็นปัญหาหรืออยากขอความช่วยเหลือ อย่าผัดผ่อนเพราะจะทำให้เด็กรู้สึกว่าเราไม่สามารถเป็นที่พึ่งของเขาได้ ควรแสดงตัวว่าพร้อมที่จะรับฟังเขา ช่วยเหลือเขาในทุกกรณี เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ


2. ตั้งสติรับฟังเรื่องราวอย่างสงบ อย่าตกใจ โกรธหรือเสียใจ แม้ว่าเรื่องราวที่เด็กเล่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงจนเหลือเชื่อ หากเราแสดงอาการตกใจ โกรธหรือเสียใจ เด็กจะหยุดเล่า เพราะไม่มั่นใจว่าเราจะสามารถช่วยเหลือเขาได้หรือไม่ รวมทั้งอาจทำให้เด็กกลัว ว่าจะได้รับความเดือดร้อนมากยิ่งขึ้นหรือไม่


3. ปล่อยให้เด็กพูดออกมาให้หมด อย่าขัดหรือโต้แย้ง กรณีที่เด็กไม่สามารถบอกเล่าได้อย่างต่อเนื่องเพราะปัญหาด้านจิตใจหรืออารมณ์ คอยปลอบโยน ให้กำลังใจเด็ก ให้เด็กสบายใจว่าหากเขาบอกเล่าออกมาหมด เขาจะได้รับความปลอดภัยและได้รับการช่วยเหลือทุกเรื่อง ปล่อยให้เด็กพูดทั้งหมดที่เขาต้องการบอกเล่าก่อน แล้วจึงค่อยซักถามในรายละเอียดที่เรารู้สึกว่ายังไม่ชัดเจน


4. อย่าคาดคั้นในข้อมูลที่ยังไม่ชัดเจน แม้เด็กจะไม่เล่าว่าผู้กระทำคือใคร ก็ไม่ต้องไปคาดคั้น แต่สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนหน้าที่เด็กจะถูกกระทำ เพื่อกำหนดวงผู้ต้องสงสัย และรายละเอียดเกี่ยวกับผู้กระทำหรือความสัมพันธ์ของผู้กระทำกับเด็กเท่าที่จะทำได้ การทราบว่าผู้กระทำเป็นใคร ไม่จำเป็นต้องให้เด็กระบุตัวหรือบอกชื่อเสมอไป ยังมีวิธีค้นหาอื่น ๆ อีกมากมาย


5. วิเคราะห์ข้อมูล พิจารณาว่าเป็นความจริงหรือไม่ หากเป็นเรื่องที่ไม่จริงรายละเอียดในการเล่าแต่ละครั้งจะไม่ตรงกัน ไม่ปะติดปะต่อ ทั้งนี้ บางครั้งก็อาจเป็นเรื่องจริงก็ได้แต่เด็กอาจมีความสามารถในการสื่อสารน้อย หรือยังมีปัญหากระทบกระเทือนทางจิตใจ จึงเล่ารายละเอียดได้ไม่ชัดเจน ทั้งนี้เราจึงต้องค่อย ๆ ฟังและจับเรื่องราวต่าง ๆ มาวิเคราะห์แล้วหาวิธีการช่วยเหลือต่อไป


6. แจ้งหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ช่วยเหลือ หรือแจ้งตำรวจทันทีหากทราบรายละเอียดแล้ว โดยแจ้งว่า ผู้กระทำเป็นใคร (หากทราบ) เวลาที่เกิดเหตุ สถานที่ที่เกิดเหตุ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันทั้งตัวเด็กเองและเด็กคนอื่น ๆ ไม่ให้เจอสถานการณ์เช่นเดียวกันนี้อีก


7. พาเด็กไว้ในที่ปลอดภัย และมีหลักประกันให้เด็กว่าจะสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างปลอดภัย รวมถึงเก็บรวบรวมหลักฐาน เช่น เสื้อผ้าที่เด็กใส่ขณะถูกล่วงละเมิดทางเพศ ขนเพชร ก้นบุหรี่ ถุงยางอนามัย หรืออื่น ๆ ที่ผู้กระทำผิดทิ้งไว้ หากสามารถถ่ายภาพร่องรอยการกระทำไว้ได้ก็เก็บไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้บอกให้เด็กเข้าใจว่าเราถ่ายไปเพื่ออะไร และไม่นำไปเผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก


8. พาเด็กไปตรวจรักษา (อาจร่วมกับหน่วยงานที่เข้ามาให้การช่วยเหลือ หรือพาเด็กไปตรวจเองก่อนเพื่อความรวดเร็ว) เพื่อรวบรวมหลักฐาน ห้าม!! ชำระร่างกายเด็กก่อนตรวจรักษาเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ไม่พบร่องรอยที่จะเป็นหลักฐานในการเอาผิดผู้กระทำ หากถูกกระทำผ่านมาหลายวันแล้วก็ควรที่จะตรวจรักษาเพื่อป้องกันโรคติดต่อและตรวจสอบการตั้งครรภ์ด้วย

 

เพราะปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กส่งผลกระทบทั้งต่อร่างกายและจิตใจได้อย่างมากมาย พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตเด็กที่อยู่ในความดูแลอย่างสม่ำเสมอ เพราะบางครั้งพวกเขาก็ยังเด็กเกินกว่าที่จะอธิบายได้เมื่อเจอกับเหตุการณ์ในลักษณะนี้
ร่วมใส่ใจในสุขภาพของเด็กทุกคนให้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า ด้วยประกันสุขภาพเด็ก (Super Kids) จากสินมั่นคงประกันภัย แผนประกันสุขภาพที่พร้อมดูแลลูกน้อยของคุณอย่างเต็มที่ ช่วยให้คุณไม่ต้องกังวลกับเรื่องค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุและโรคเด็กสุดฮิตอีกต่อไป
สนใจรายละเอียด คลิก www.smk.co.th/producthealthdetail/12 หรือ โทร.1596 ตลอด 24 ชั่วโมง
สินมั่นคงประกันสุขภาพ ..เราประกัน คุณมั่นใจ..

Photo source: freepik.com