ประกันสุขภาพ : 9 คำถามยอดฮิต ต้องทำตัวอย่างไรในสถานการณ์โควิด-19
เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มกลับมาระบาดอีกครั้ง การป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นการ “สวมใส่หน้ากาก” “ล้างมือ” และ “เว้นระยะห่างทางสังคม” ต้องนำกลับมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอีกครั้ง สินมั่นคง ประกันสุขภาพ รวบรวมคำถามยอดฮิตสำหรับการปฏิบัติตัวในสถานการณ์การเเพร่ระบาด ณ ขณะนี้ มาฝากกัน
สารบัญบทความ
1. เลือก “หน้ากากอนามัย” ป้องกัน COVID-19 แบบไหนดี?
2. “หน้ากากผ้า” ป้องกัน COVID-19 ได้หรือไม่?
3. การสวม “หน้ากาก” ช่วยป้องกัน COVID-19 ได้มากน้อยแค่ไหน?
4. ล้างมือด้วย “เจลแอลกอฮอล์” หรือ “สบู่” แบบไหนดีกว่ากัน?”
5. ต้อง “ล้างมือ” ตอนไหนบ้าง?
6. ต้อง “ล้างมือ” นานแค่ไหน?
7. ทำไมต้อง “เว้นระยะห่างทางสังคม”?
8. “เว้นระยะห่างทางสังคม” 2 เมตร ยาวแค่ไหน?
9. “เว้นระยะห่างทางสังคม” 2 เมตรเพียงพอหรือไม่?
1. เลือก “หน้ากากอนามัย” ป้องกัน COVID-19 แบบไหนดี?
สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถใช้ “หน้ากากทั่วไป” (Non-Medical Mask) เช่น “หน้ากากผ้า” เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ในระหว่างการทำกิจกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวัน เนื่องจาก “หน้ากากผ้า” สามารถป้องกันละอองน้ำลาย น้ำมูก หรือเสมหะที่เป็นหนึ่งสาเหตุสำคัญของการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ค่อนข้างดี เนื่องจาก “หน้ากากทางการแพทย์” ควรต้องเก็บสำรองไว้ให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อได้สวมใส่ ในขณะที่ประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น อายุมากกว่า 60 ปี, ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เส้นเลือดในสมอง เบาหวาน โรคปอด โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้มีอาการป่วยอื่นๆ ที่อยู่ในระหว่างการเดินทางเมื่ออจำเป็นต้องไปพบเเพทย์ ก็สามารถใส่หน้ากากทางการแพทย์ได้ เนื่องจากโรงพยาบาลถือเป็นพื้นที่เสี่ยงด้วยเช่นกัน มีรายละเอียดของประเภทและประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยดังต่อไปนี้
• หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask หรือ Medical Mask) ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อจากฝอยละอองขนาดใหญ่ ไม่ให้เข้าสู่จมูก/ปากของผู้ใส่ และป้องกันไม่ให้น้ำมูก น้ำลายของผู้ใส่ที่อาจมีเชื้อโรคแพร่กระเด็นออกไปโดนผู้อื่น อย่างไรก็ตาม หน้ากากดังกล่าวไม่สามารถกรองเชื้อโรคที่มีอนุภาคขนาดเล็กมาก และยังไม่สามารถป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้อย่างเต็ม 100%
• หน้ากากอนามัยคาร์บอน (Carbon Face Mask) คุณสมบัติในการป้องกันใกล้เคียงหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แต่จะมีชั้นคาร์บอนสำหรับกรองกลิ่นไม่พึงประสงค์เพิ่มเข้ามา
• หน้ากาก N95 ป้องกันเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมากได้ และดักจับอนุภาคขนาดเล็ก PM2.5 และ PM10 ได้ดี มีประสิทธิภาพในการป้องกันสูงกว่าหน้ากากอนามัยแบบทั่วไป มีทั้งสำหรับการใช้เพื่อการแพทย์ และเพื่อการอุตสาหกรรม
• หน้ากาก FFP1 ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับหน้ากากอนามัย N95 ป้องกันได้ทั้งฝุ่น อนุภาคขนาดเล็ก PM2.5 และ PM10 เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส อีกทั้งยังกรองสารเคมีฟูมโลหะ (อนุภาคของแข็งที่เกิดขึ้นจากไอระเหยจากเหล็กในระหว่างการเชื่อมหรือการตัดเหล็ก)
• หน้ากากผ้า ป้องกันฝุ่นละออง และการกระจายของละอองน้ำมูกหรือน้ำลายจากการ ไอ/จามที่เป็นหนึ่งสาเหตุสำคัญในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ไม่สามารถกรองเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมากได้ เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปที่สุขภาพแข็งแรง สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
• หน้ากากฟองน้ำ กรองฝุ่นควัน ฝุ่นละอองทั่วไปและเกสรดอกไม้ได้ ไม่สามารถป้องฝุ่น PM 2.5 หรือเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ พับเก็บได้โดยไม่เสียรูปทรง สามารถซักและนำกลับมาใช้ใหม่ได้
กลับสู่สารบัญ
2. “หน้ากากผ้า” ป้องกัน COVID-19 ได้หรือไม่?
ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า แม้การสวม “หน้ากากผ้า” จะไม่ใช่มาตรการหลักในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้อย่างสมบูรณ์ เเต่ “หน้ากากผ้า” สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ประมาณ 54-59% เพราะเส้นใยของผ้ามีขนาดเล็กกว่าเชื้อไวรัส ในขณะที่ “หน้ากากอนามัย” จะจำเป็นเฉพาะผู้ป่วยที่ติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ และบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะบุคลากรที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะถูกละอองฝอยจากการไอ และจามมากกว่า ดังนั้นแล้ว การเลือกใช้ “หน้ากากผ้า” แทน “หน้ากากอนามัย” ในการป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่มีอาการป่วย และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยในการป้องกันตัวเองจากโรคไวรัสโควิด-19
กลับสู่สารบัญ
3. การสวม “หน้ากาก” ช่วยป้องกัน COVID-19 ได้มากน้อยแค่ไหน?
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยเเพร่คำแนะนำการใช้ “หน้ากากอนามัย” เพื่อป้องกันการเเพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 โดยจากการศึกษาพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการจำนวนมาก เเต่สามารถแพร่เชื้อดังกล่าวไปสู่ผู้อื่นได้อย่างต่อเนื่องในระหว่าง 24-48 ชั่วโมงก่อนที่จะรับทราบการติดเชื้อ ซึ่งเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถเเพร่กระจายได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การเเพร่เชื้อผ่านละอองขนาดใหญ่ เช่น ละอองน้ำลาย น้ำมูก หรือเสมหะที่กระจายตัวไปในอากาศ และกระเด็นเข้าตา จมูก หรือปากของผู้อื่นในระหว่างการไอ จาม หรือการพูดคุย 2) การแพร่เชื้อทางอากาศ จากอนุภาคขนาดจิ๋วที่แขวนตัวอยู่กับละอองของเหลวที่ลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งสามารถลอยไปได้ไกล เเละสูดหายใจเข้าไปได้ และ 3) การแพร่เชื้อจากการสัมผัสจากมือที่สัมผัสกับเชื้อโรค ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง
ดังนั้นแล้ว การสวมใส่ “หน้ากากอนามัย” หรือ “หน้ากากผ้า” ที่ปิดปากเเละจมูกอย่างถูกวิธีจึงเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันการติดเชื้อ และลดการแพร่เชื้อจากผู้ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ หรือยังไม่แสดงอาการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสตา จมูก ปาก และการหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดอย่างเคร่งครัด
กลับสู่สารบัญ
4. ล้างมือด้วย “เจลแอลกอฮอล์” หรือ “สบู่” แบบไหนดีกว่ากัน?”
ไม่ว่าจะล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสบู่ต่างก็สามารถกำจัดเชื้อโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี หากล้างมืออย่างถูกวิธีเป็นประจำ โดยเจลล้างมือแอลกอฮอล์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มากกว่า 70%-90% นั้น สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ แต่จะไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ บางชนิดได้ เช่น โนโรไวรัส (Norovirus) และไวรัสโรต้า (Rotavirus) ทั้งนี้ เชื้อโรคจะแพร่กระจายได้ดีบนผิวที่มีความเปียกง่ายกว่าผิวที่แห้ง การเช็ดมือให้แห้งหลังล้างมือด้วยสบู่จึงเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญเพื่อกำจัดและลดการเเพร่กระจายเชื้อโรคที่ต้องทำภายหลังจากการล้างมือ
กลับสู่สารบัญ
5. ต้อง “ล้างมือ” ตอนไหนบ้าง?
นอกจากเชื้อไวรัสโควิด-19 จะแพร่กระจายผ่านละอองน้ำมูกหรือน้ำลายจากการไอ/จามในระหว่างพูดคุยได้แล้ว เชื้อไวรัสดังกล่าวยังสามารถเเพร่กระจายได้จากการหยิบจับ หรือสัมผัสเชื้อโรคผ่านทางมือ เเละนำเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการสัมผัสที่ตา จมูกหรือปากโดยไม่ตั้งใจ ดังนั้นแล้ว เราจึงควรล้างมืออย่างถูกวิธีทุกครั้งด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสบู่ เมื่อมีการสัมผัส หรือหยิบจับวัตถุต่างๆ ในสถานที่ที่สาธารณะที่มีคนพลุกพล่าน หรือต้องทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเสี่ยง มีรายละเอียดดังนี้
• หลังจากสั่งน้ำมูก ไอ หรือจาม
• หลังจากใช้บริการสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ ตลาด
• หลังจากสัมผัสกับพื้นผิวหรือวัสดุต่างๆ นอกบ้านและเงิน
• ก่อน ระหว่าง และหลังจากการดูแลผู้ป่วย
• ก่อนและหลังรับประทานอาหาร
• หลังจากใช้ห้องน้ำ
• หลังจากทิ้งขยะ
• หลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยงและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ
• หลังเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็กหรือพาเด็ก ๆ เข้าห้องน้ำ
• มือมีคราบสกปรก
กลับสู่สารบัญ
6. ต้อง “ล้างมือ” นานแค่ไหน?
ควรใช้ระยะเวลาในการล้างมือนานเท่ากับการร้องเพลง Happy Birthday 2 รอบ หรือหรือเพลงช้าง 2 รอบ ซึ่งจะเทียบเวลาได้ประมาณ 20 วินาที รวมถึงกรณีที่ใช้เจลล้างมือแอลกอฮอล์นั้น ต้องใช้เจลแอลกอฮอล์ที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 จากนั้นถูให้ทั่วทั้งบนฝ่ามือและหลังมืออย่างน้อย 20 วินาทีเช่นกัน
กลับสู่สารบัญ
7. ทำไมต้อง “เว้นระยะห่างทางสังคม”
ปัจจุบันเชื่อว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถเเพร่กระจายได้ 3 ช่องทาง คือ 1) ละอองขนาดใหญ่ (Droplets) จากการไอหรือจามรดกันในระยะ 1-2 เมตร 2) ละอองฝอย (Aerosol) ที่ลอยอยู่ในอากาศ จากการเข้าทำหัตถการให้กับผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิดโดยบุคลากรทางการแพทย์ เช่น การดูดเสมหะ หรือการใส่ท่อช่วยหายใจ และ 3) การหยิบจับเเละสัมผัสเชื้อโรคผ่านทางมือ ก่อนนำเข้าสู่ร่างกายด้วยการสัมผัสตา ปาก จมูกโดยไม่ตั้งใจ ทั้งนี้ การหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดและลดพฤติกรรมเสี่ยงติด/แพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถทำได้โดยมีรายละเอียดดังนี้
• งดเข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่แออัดต่างๆ เช่น โรงเรียน โรงภาพยนตร์ หรือสถานบันเทิง
• งดการสัมผัสระยะใกล้ เช่น กอด/จูบ หอมแก้ม หรือทักทายแบบฝรั่ง
• ล้างมือทุกครั้งหลังใช้สิ่งของสาธาณะร่วมกับผู้อื่น เช่น ลิฟท์ ลูกบิด หรือราวบันได
• หลีกเลี่ยงการใช้บริการสาธารณะในชั่วโมงเร่งด่วน เช่น รถสาธารณะ ร้านสะดวกซื้อ
กลับสู่สารบัญ
8. “เว้นระยะห่างทางสังคม” 2 เมตร ยาวแค่ไหน?
การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในระยะ 2 เมตร เทียบได้กับระยะก้าวของผู้ใหญ่ประมาณ 3 ก้าว หรือระยะก้าวของเด็ก 5 ก้าว หรือเปรียบเทียบได้กับระยะของจักรยาน 1 คัน,ระยะประมาณครึ่งหนึ่งของช่องจอดรถยนต์ หรือมีพื้นที่กว้างมากพอที่จะวางเตียง 1 หลัง หรือรถเข็นจากร้านสะดวกซื้อ 2 คัน
กลับสู่สารบัญ
9. “เว้นระยะห่างทางสังคม” 2 เมตรเพียงพอหรือไม่
ผลการศึกษาจาก University of Florida สหรัฐอเมริกาพบว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถเเพร่กระจายจากผู้ติดเชื้อได้ในรูปแบบละอองฝอยขนาดเล็ก (Aerosol) ที่สามารถแขวนลอย และกระจายในอากาศได้ไกลกว่า 2 เมตร สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้จากการหายใจเอาเชื้อเข้าไปโดยไม่จำเป็นต้องเข้าทำหัตถการใดๆ ที่ต้องใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ดังนั้นแล้ว การเว้นระยะห่างทางสังคมในระยะ 1-2 เมตร เเต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ให้ความสำคัญกับการสวมใส่หน้ากากป้องกันและหมั่นล้างมือเป็นประจำ อาจไม่เพียงพอสำหรับการลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กลับสู่สารบัญ
การสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือเป็นประจำด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสบู่ และหลีกเลี่ยงที่สาธารณะเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ เเต่หากป้องกันโดยขาดความระมัดระวัง เช่น การใส่หน้ากากอนามัยไม่ถูกวิธี ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้จากการสัมผัสตา จมูกและปากโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นแล้ว การหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า จึงเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักอยู่เสมอในระหว่างการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19
ไม่หวั่นแม้วันที่โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ สินมั่นคงประกันภัยให้คุณซื้อ 1 คุ้มถึง 3 ช่วยคุ้มครองคุณในวันที่นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลและขาดรายได้จากการทำงานด้วยโรคโควิด-19 และอีก 9 โรคฮิต ทั้งค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยระหว่างรักษาตัววันละ 1,000 บาท นานสูงสุด 30 วัน (ต่อการพักรักษาเป็นผู้ป่วยในครั้งใดครั้งหนึ่ง และสูงสุดไม่เกิน 365 วันต่อปี) ด้วยวงเงิน 100,000 บาท กับเบี้ยเริ่มต้นเพียง 250 บาทต่อปี โควิดมา! งานสะดุด แต่เงินไม่หาย...คุ้มครองก่อนอุ่นใจกว่า
สนใจรายละเอียด คลิก www.smk.co.th/producthealthdetail/18
สินมั่นคงประกันสุขภาพ ..เราประกัน คุณมั่นใจ..
ข้อมูลจาก : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, องค์การอนามัยโลก
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ประกันสุขภาพ : โควิดระลอกใหม่ก็ไม่หวั่น ด้วยประกัน Covid 3 in 1
- ประกันสุขภาพ : ใช้ Big Data ให้เกิดประโยชน์ โควิด 19 รู้ก่อน ป้องกันได้
- ประกันสุขภาพ : รู้ทัน “ไวรัสโคโรน่า” ตัวร้ายสายพันธุ์ใหม่ เที่ยวตรุษจีนปลอดภัย ไร้ปอดอักเสบ