ข่าวสารและบทความ

ประกันสุขภาพ : กินอาหารใส่สารกันบูดจะเป็นอันตรายไหม

ประกันสุขภาพ : กินอาหารใส่สารกันบูดจะเป็นอันตรายไหม

ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตเร่งรีบ อาหารที่บริโภคมักเป็นอาหารที่สำเร็จรูปที่จำหน่ายทั่วไป ซึ่งกว่าครึ่ง ล้วนผ่านกระบวนยืดอายุผลิตภัณฑ์ทั้งสิ้น ซึ่งมีหลายวิธีในการยืดอายุผลิตภัณฑ์ เช่น การฆ่าเชื้อและใช้บรรจุภัณฑ์สะอาดได้มาตรฐาน หรือการใช้สารกันบูดเพื่อยืดอายุอาหาร  อาหารที่มักมีสารกันบูด ได้แก่ อาหารที่ผลิตจากแป้ง เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว  ขนมจีน วุ้นเส้น ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ เนื้อสัตว์ เช่น ลูกชิ้น หมูยอ ไส้กรอก ผลิตภัณฑ์จากผักผลไม้ เช่น ผักผลไม้ดอง พริกแกง เครื่องดื่มบางชนิด เป็นต้น  สินมั่นคง ประกันสุขภาพ จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายจากสารกันบูดมาให้ได้อ่านกัน

คุณสมบัติของสารกันบูด จะช่วยป้องกันหรือช่วยทำลายเชื้อจุลินทรีย์ไม่ให้เจริญเติบโต หรือป้องกันไม่ให้แพร่กระจายออกไป จึงไม่เกิดการสร้างของเสีย อาหารก็อยู่ได้นาน สารกันบูดจะมีชื่อทางเคมี สามารถแบ่งเป็น 4 พวกด้วยกัน คือ

1. กลุ่มของกรดอ่อนและเกลือของกรดอ่อน (acid and its salts) นิยมใช้กันมากในระดับอุตสาหกรรม เพราะมีความเป็นพิษน้อยและละลายน้ำได้ดี 

2. กลุ่มของไนเตรตและไนไตรท์ (nitrate and nitrite) อนุญาตให้ใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์หมักต่างๆ เช่น แฮม ไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง เบคอน หรือผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์หมักที่ผ่านกรรมวิธีบรรจุกระป๋อง 

3. กลุ่มของซัลไฟต์และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (sulfites and sulfur dioxide) อนุญาตให้ใช้ในพืชผักผลไม้แห้งและแช่อิ่ม

4. สารปฏิชีวนะ ข้อดีของสารปฏิชีวนะคือ จะทำลายหรือยับยั้งจุลินทรีย์ได้หลายชนิดขึ้นกับชนิดที่ใช้

 

อันตรายจากสารกันบูด

ตามปกติหากได้รับสารกันบูดในปริมาณไม่สูง ร่างกายสามารถขับออกเองได้ แต่การบริโภคอาหารที่มีสารกันบูดเป็นประจำอาจส่งผลให้ร่างกายขับออกไม่ทัน กลายเป็นสารพิษตกค้างสะสมและนำมาซึ่งผลกระทบต่อร่างกาย  เช่น

- การได้รับกรดเบนโซอิกจากเส้นก๋วยเตี๋ยวในปริมาณสูง อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย วิงเวียน และปวดศีรษะได้

- สารกันบูดในกลุ่มซัลไฟต์ แม้จะถูกขับออกจากร่างกายได้ แต่หากได้รับในปริมาณมากเกินไป สารดังกล่าวจะไปลดการใช้โปรตีนและไขมันในร่างกาย นอกจากนี้ยังทำลายไธอามีนหรือวิตามินบี 1 ในอาหารด้วย

- สารกันบูดในกลุ่มไนไนเตรตและไนไตรท์ ยกตัวอย่างเช่น ดินประสิว ซึ่งนิยมนำมาใช้กับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ หากใช้เกินกว่าที่กำหนด จะทำให้ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ  และอาจทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงช็อกเฉียบพลัน ทำให้ไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ จนทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ หายใจไม่ออก ตัวเขียว เป็นลม และหมดสติได้ในที่สุด นอกจากนี้การได้รับไนไตรท์ในปริมาณมากๆ จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งได้อีกด้วย

 

การหลีกเลี่ยงการบริโภคสารกันบูดในอาหาร

- ก่อนซื้ออาหารสำเร็จรูป ควรอ่านฉลากอาหาร และเลือกอาหารที่ระบุว่าไม่ใส่สารกันบูดหรือวัตถุกันเสีย หากฉลากนั้นไม่ได้ระบุชัดเจนว่าใช้สารกันบูดหรือไม่ ก็ควรหลีกเลี่ยง หรือบริโภคให้น้อยที่สุด 

- หลีกเลี่ยงการซื้ออาหารที่ขายไม่หมดวันต่อวัน

- หลีกเลี่ยงอาหารที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะใส่สารกันบูด เช่น แหนม หมูยอ กุนเชียง เนื้อเค็ม และน้ำพริกชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

- พบว่า การลวกหมูยอในน้ำเดือดก่อนนำมารับประทาน จะช่วยลดปริมาณสารกันบูดลงได้ ซึ่งน่าจะได้ผลเช่นเดียวกันในผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์อื่น ๆ    

- หากอายุของผลิตภัณฑ์อาหารนานผิดปกติให้สงสัยว่าใส่สารกันบูด 

- หากเป็นอาหารที่บรรจุในถุงพลาสติกธรรมดาหรือใส่กล่องโฟมให้เลือกที่ขายวันต่อวันเท่านั้น

- รับประทานอาหารหลายชนิดหมุนเวียนกันไป เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมสารพิษตกค้าง

 

เพียงเท่านี้ก็ทำให้เราปลอดภัยจากสารกันบูดที่มีมากมายในท้องตลาด  และควรเลือกรับประทานอาหารที่มาจากธรรมชาติให้ครบ 5 หมู่  ก็จะช่วยให้สุขภาพดีได้ สินมั่นคงประกันภัย มีประกันสุขภาพหลายรูปแบบให้เลือก พร้อมเบี้ยประกันที่ไม่แพง   www.smk.co.th หรือ โทร 1596  สินมั่นคงประกันสุขภาพ ..เราประกัน คุณมั่นใจ..

ที่มา: Health & Cuisine

Photo source : freepik.com