ประกันสุขภาพ : ต่อมไทรอยด์อยู่ตรงไหน? ต่อมไทรอยด์เป็นพิษมีอาการอย่างไร?
ด้วยสภาพการใช้ชีวิตที่เร่งรีบของคนในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้มีพฤติกรรมที่ทำร้ายสุขภาพได้โดยไม่รู้ตัว และก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย หนึ่งในโรคที่คาดว่าอาจเกิดจากวิถีชีวิตและพฤติกรรมที่ทำซ้ำในแต่ละวันคือภาวะต่อมไทรอยด์ผิดปกติ ซึ่งมีหลากหลายอาการของโรคที่แตกต่างกันออกไป แล้วต่อมไทรอยด์ของร่างกายเราคืออวัยวะส่วนไหน? โรคอะไรที่สามารถเกิดขึ้นกับต่อมไทรอยด์ได้บ้าง? สินมั่นคง ประกันสุขภาพ มีข้อมูลมาฝากค่ะ
ต่อมไทรอยด์คืออะไร? อยู่ตรงไหนของร่างกาย?
ต่อมไทรอยด์เป็นอวัยวะที่อยู่ตรงบริเวณคอ และเป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนเพื่อควบคุมระบบการเผาผลาญพลังงาน หากร่างกายมีภาวะที่ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ผลิตฮอร์โมนมากเกินไปหรือต่ำเกินไป ก็จะส่งผลต่อระบบการเผาผลาญของร่างกายได้ รวมทั้งยังส่งผลต่อการกระตุ้นการทำงานของอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะหัวใจและสมอง หรือแม้แต่การส่งผลต่อความแข็งแรงของผิวหนัง เล็บ หรือผม ด้วยเช่นกัน
โรคที่เกิดขึ้นได้กับต่อมไทรอยด์ มีอะไรบ้าง?
1. โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism)
เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ส่งผลให้ฮอร์โมนไทโรซีนและฮอร์โมนไทรไอโอโดไทโรนีนถูกผลิตออกมามากเกินไปจนกลายเป็นพิษ และด้วยหน้าที่ของฮอร์โมน 2 ชนิดนี้ มีส่วนช่วยควบคุมการเผาผลาญของร่างกาย และควบคุมระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในระบบไหลเวียนเลือด เมื่อฮอร์โมนเกิดผลิตออกมามากก็ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานหนักขึ้น น้ำหนักจึงลดลงอย่างรวดเร็วแบบผิดปกติ รวมถึงการมีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ในสั่น เหงื่อออกง่าย ขี้ร้อน และมีอารมณ์ฉุนเฉียว
วิธีการรักษา รับประทานยาเพื่อรักษาลดฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ การกลืนน้ำแร่ไอโอดีนที่เกาะกับสารรังสี เพื่อทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยลงและมีขนาดที่เล็กลง หากมีคอโตมากจนผิดปกติควรทำการผ่าตัด หากไม่ทำการรักษาจะทำให้เหนื่อยง่าย ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย และภาวะน้ำท่วมปอด
2. โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (hypothyroidism)
เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนน้อยกว่าปกติ อาการที่แสดงจึงมักจะตรงข้ามกับภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เช่น รู้สึกเฉื่อยชา ขี้เกียจ หายใจไม่เต็มที่ คิดช้า พูดช้า ขี้หนาว น้ำหนักเพิ่มขึ้น ซึ่งอาการมักเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยอาจมีอาการมาก่อนแล้วเป็นเวลาหลายปีโดยไม่ทราบสาเหตุ การตรวจฮอร์โมนต่อมไทรอยด์จึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้แพทย์พบความผิดปกติได้เร็วขึ้น
วิธีการรักษา การให้ฮอร์โมนเสริมไทรอยด์ เพื่อให้ฮอร์โมนในร่างกายปรับเข้าสู่ภาวะปกติ หากไม่ทำการรักษาจะทำให้อ้วนขึ้น มีน้ำในช่องปอดและช่องหัวใจ เนื่องจากเกิดจากการบวมน้ำ
3. โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis)
ต่อมไทรอยด์อักเสบจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือแบบอักเสบกึ่งเฉียบพลันและแบบอักเสบเรื้อรัง ซึ่งต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดกึ่งเฉียบพลัน จะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส เช่น เป็นหวัด มีไข้ หรือมีภาวะต่อมไทรอยด์โต คนไข้จะรู้สึกเจ็บเมื่อคลำที่ก้อน สามารถรักษาได้ด้วยการทานยากลุ่มสเตียรอยด์ และมักจะหายขาดได้ภายใน 3-6 เดือน ส่วนต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดเรื้อรังนั้น จะมีสาเหตุมาจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยมักมีอาการคอโตแต่กดแล้วไม่รู้สึกเจ็บ
วิธีการรักษา รับประทานยาเพื่อลดอาการอักเสบ หรือรักษาด้วยการทานยาไทรอยด์ฮอร์โมน
4. โรคต่อมไทรอยด์โตแบบไม่เป็นพิษ (Thyroid nodule)
ภาวะต่อมไทรอยด์โตจะมี 2 ชนิด คือ แบบเป็นพิษและไม่เป็นพิษ ซึ่งภาวะต่อมไทรอยโตแบบไม่เป็นพิษนั้นจะคลำพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์แต่ไม่มีอาการ ทำให้ผู้ป่วยหลายรายมักสับสนกับภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โดยภาวะต่อมไทรอยด์โตแบบไม่เป็นพิษจะมีทั้งแบบโตก้อนเดียว (Single thyroid nodule) และแบบโตหลายก้อน (Multinodular goiter)
วิธีการรักษา หากก้อนที่ต่อมไทรอยด์ใหญ่จนเกินไป หรือมีภาวะความเสี่ยงว่าเป็นเนื้อเยื่อไม่ดีควรทำการผ่าตัด หากไม่ทำการรักษาอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์
5. โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ (thyroid cancer)
ในกรณีที่ตรวจพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์ หากลักษณะเป็นก้อนแข็ง มีขอบไม่เรียบ มีหินปูนในก้อน แพทย์อาจทำการส่งตรวจเพิ่มเติมว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์หรือไม่
วิธีการรักษา การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ที่เหมาะสมที่สุด คือ การผ่าตัด อาจผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมดหรือผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
หน้าที่ของต่อมไทรอยด์มีความสำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างมาก หากสังเกตถึงสัญญาณผิดปกติ ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจไทรอยด์ฮอร์โมน ค้นหาความเสี่ยงของโรคและเริ่มต้นรักษาได้อย่างถูกวิธี ช่วยคุ้มครองคุณทุกปัญหาสุขภาพ ด้วยประกันสุขภาพเหมาจ่าย ที่ให้ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก นอนโรงพยาบาลเหมาจ่ายค่ารักษาตามจริงสูงสุด 500,000 บาท
สนใจรายละเอียด คลิก www.smk.co.th/producthealthdetail/7 หรือ โทร.1596 Line : @smkinsurance