ข่าวสารและบทความ

ประกันการเดินทาง : One Day Trip ไหว้พระ 9 วัด กรุงเทพฯ วันอาสาฬหบูชา

ประกันการเดินทาง : One Day Trip ไหว้พระ 9 วัด กรุงเทพฯ วันอาสาฬหบูชา

 

วันอาสาฬหบูชาในปี 2565 นี้ ตรงกับวันที่ 13 กรกฎาคม และวันถัดไปเป็นวันเข้าพรรษา หากรวมกับวันหยุดราชการกรณีพิเศษประจำปี 2565 ตามประกาศของคณะรัฐมนตรี จะทำให้มีวันหยุดยาวติดต่อกันถึง 5 วัน เนื่องจากว่าต้องการให้คนไทยมี "วันหยุดยาว" เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางภายในประเทศ ( เช็กวันหยุดราชการ "วันหยุดยาว" 2565 ) แต่อาจมีหลายคนที่ไม่อยากเดินทางไปไหนไกล เพียงแค่ต้องการไหว้พระ 9 วัด ทำบุญแบบ One Day Trip เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต สินมั่นคง ประกันเดินทาง มีตัวอย่างทริปไหว้พระ 9 วัด กรุงเทพฯ มาแนะนำกันค่ะ

 

 


1. วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

เริ่มกันที่วัดแรก คือ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท สร้างขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 แต่เดิมพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นที่พำนักของพระสงฆ์จีน ต่อมาเจ้าพระยานิกรบดินทร์มหินทรมหากัลยาณมิตร ได้สร้างวัดและน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร” และทรงพระราชทานสร้างพระประธาน เป็นหลวงพ่อโตองค์ใหญ่ นามว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือหลวงพ่อซำปอกง ซึ่งเป็นที่สักการะและเคารพนับถืออย่างมากในกลุ่มคนจีนที่อาศัยอยู่แถวนั้น มีความเชื่อว่า หากอยากมีเพื่อนฝูงดี หรือมีบริวารดี ต้องไปสักการะที่วัดนี้ เพราะ “กัลยาณมิตร” แปลว่า มิตรที่ดี นั่นเอง

 

 

 2. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)

วัดต่อมาอยู่ไม่ไกลกันมาก เดินจากวัดกัลยาณมิตรมาประมาณ 15 นาที คือ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดแจ้ง มีเอกลักษณ์อยู่ที่พระปรางค์ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถ จะมีรูปปั้นยักษ์วัดแจ้งที่มีชื่อเสียงยืนเฝ้าอยู่ เดิมเชื่อกันว่าชื่อวัดมะกอกนอก และเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อครั้งพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงยกทัพขึ้นมาที่ธนบุรีเพื่อแต่งตั้งธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ เสด็จมาถึงหน้าวัดมะกอกนอกเป็นช่วงเวลารุ่งแจ้ง จึงทรงพระราชทานนามใหม่ของวัดแห่งนี้ ให้เป็น “วัดแจ้ง” และด้วยความที่ชื่อวัดมีความมงคล คำว่า “แจ้ง” หรือ “อรุณ” แปลว่าช่วงเช้าวันใหม่ ซึ่งเป็นความหมายที่ดี เปรียบเสมือนการเริ่มต้นชีวิตใหม่

 

 

3. วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

เดินต่อมาที่วัดระฆังโฆสิตารามฯ วัดเก่าแก่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อเดิมว่า วัดบางหว้าใหญ่ ในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชรัชกาลที่ 1 ได้มีการขุดพบระฆังโบราณในเขตวัด ทำให้ประชาชนพากันเรียกว่า วัดระฆัง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตัวระฆังที่ขุดพบ ในหลวงรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระแก้ว และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างชดเชยให้วัดระฆังใหม่ 5 ลูก มีความเชื่อว่า ใครที่ได้มาไหว้พระที่วัดระฆัง จะเป็นที่ชื่นชอบของผู้อื่น และมีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนเสียงตอนตีระฆัง นอกจากนี้วัดระฆังยังเป็นวัดที่เหล่าผู้ศรัทธาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จะต้องมากราบไหว้บูชา เพราะวัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของท่านมาก่อน

 

 

4. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

จากนั้นจึงนั่งเรือข้ามฟากจากวัดระฆังมายังฝั่งพระนคร เริ่มที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ วัดนี้ขึ้นชื่อเรื่องของความรักและการขอเนื้อคู่สำหรับวัยสามสิบขึ้นไป นอกจากนี้ วัดโพธิ์ ยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 อีกทั้งยังเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย เชี่ยวชาญด้านการนวดเพื่อสุขภาพ หรือนวดเพื่อบำบัดอาการเจ็บป่วยต่างๆ เป็นที่ติดอกติดใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

 

5. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

เดินถัดจากวัดโพธิ์มาได้ไม่ไกล ก็จะถึง วัดพระแก้ว หรือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระบรมมหาราชวัง ภายในประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทยที่ทำจากหยกสีเขียว ซึ่งอัญเชิญมาจากกรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว และยังมีสถาปัตยกรรมวิจิตรงดงามตระการตา เป็นที่ประทับใจแก่ชาวไทยและชาวต่างชาติที่มาเที่ยวในประเทศไทย

   

 

 6. วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร

ถัดมาเป็น วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดกลางนา เป็นวัดร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมา รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ บูรณะวัดร้างแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ และพระราชทานนามว่า “วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ที่ทรงรบชนะพม่าทั้ง 3 ครั้ง ในสงคราม 9 ทัพ จึงมีความเชื่อกันว่าหากต้องการชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวงให้มากราบไหว้ที่วัดนี้

 

 7. วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เดิมชื่อว่า วัดใหม่ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์เมื่อครั้งทรงผนวช อาทิ รัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 10 รวมถึงยังเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ และยังเป็นที่ตั้งของ มหาวิทยาลัยมกุฎราชวิทยาลัย มีพระพุทธชินสีห์ ประดิษฐานเป็นพระประธาน เชื่อว่าหากได้สักการะพระพุทธชินสีห์ จะเป็นการเสริมดวงชะตาให้ดี และแคล้วคลาดจากภัยอันตราย

 

8. วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ใช้ชื่อเดิมว่า วัดสุทธาวาส ต่อมาได้รับพระราชทานชื่อว่า วัดสุทัศนเทพวราราม ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3  เป็นที่ประดิษฐานของพระศรีศากยมุนี เป็นพระเก่าแก่ตั้งแต่สมัยราชวงศ์พระร่วง ของสุโขทัย ผู้คนนิยมมากราบไหว้ขอพรเกี่ยวกับการศึกษา เพื่อการมีวิสัยทัศน์กว้างไกล


9. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง)

ปิดท้ายทริปที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรือ วัดสระเกศ เดิมวัดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ แปลว่า “ชำระพระเกศา” จากนั้นรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะและสร้างพระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง ขึ้น ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสาริกธาตุ และควรไปช่วงเย็นเพื่อได้เห็นวิวสวยๆ ของกรุงเทพฯ ที่อาบไปด้วยแสงอาทิตย์ตกดิน
   

 

วันหยุดยาวนี้ หากต้องการเพิ่มความเป็นสิริมงคลของชีวิต One Day Trip ไหว้พระ 9 วันในกรุงเทพฯ อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่กำลังต้องการหากิจกรรมทำ ช่วยคุ้มครองอุบัติเหตุให้คุณตลอดการเดินทาง 24 ชั่วโมง ด้วยประกันภัยการเดินทาง (TA) พร้อมโปรโมชันสุดพิเศษ! กับประกันขยันเที่ยว เดินทางคนเดียว...เที่ยวสบาย หรือเลือกประกันบัดดี้เที่ยวด้วย เที่ยวเป็นคู่ ซื้อ1 ฟรี 1 เที่ยวเป็นกลุ่มสุดคุ้มจ่ายแค่ครึ่งเดียว
สนใจรายละเอียด คลิก www.smk.co.th/productpadetail/3 หรือ Blog : https://smkinsurance.blogspot.com 
Line : @smkinsurance โทร. 1596