ประกันภัยบ้าน : น้ำท่วมเฉียบพลัน สาเหตุเกิดจากอะไร?
ประกาศเตือนอุทกภัยหรือน้ำท่วมเฉียบพลันจากกรมอุตุนิยมวิทยา เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ความใส่ใจคอยเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภัยที่อาจมาถึงตัวได้โดยไม่คาดคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระหว่างก่อนเปลี่ยนฤดูกาล ที่สภาพอากาศมีความแปรปรวน ( เตือนระวัง ‘น้ำท่วมฉับพลัน’ 11 จังหวัด ) และอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมแบบเฉียบพลัน แล้วสาเหตุของการเกิดน้ำท่วมเฉียบพลันมาจากอะไรบ้าง? สินมั่นคง ประกันภัย มีข้อมูลมาฝากค่ะ
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน ( วิธีเตรียมตัวรับมือน้ำท่วม เมื่อมีการแจ้งเตือน! ) ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่จากสภาพท้องที่และความแปรปรวนของธรรมชาติ แต่ในบางท้องที่ การกระทำของมนุษย์ ก็มีส่วนสำคัญ ในการทำให้การเกิดอุทกภัยนั้นมีความรุนแรงมากขึ้น ด้วยสาเหตุดังนี้
1. น้ำท่วมเนื่องจากฝนตกหนัก
น้ำฝน เป็นต้นกำเนิดของน้ำที่ปรากฏบนผิวโลก เมื่อฝนตกลงมาบนผิวดินจะมีน้ำบางส่วนขังอยู่บนผิวดิน และบางส่วนซึมลงไปสะสมอยู่ในดิน เมื่อมีฝนตกมากขึ้นน้ำจะไม่สามารถซึมลงไปในดินหรือขังอยู่บนผิวดินได้หมด จึงเกิดน้ำไหลนองไปบนผิวดิน ซึ่งรวมแล้วจะมีปริมาณมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณและพฤติกรรมของฝนที่ตก จากนั้นน้ำจะไหลลงสู่ที่ลุ่มต่ำลำน้ำลำธารแล้วไหลลงสู่แม่น้ำและทะเล
2. รูปร่าง ลักษณะ และส่วนประกอบของพื้นที่ลุ่มน้ำส่งผลให้เกิดน้ำท่วม
สภาพของฝนที่ตกในพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยทั่วไปจะมีอิทธิพลโดยตรงต่อจำนวนน้ำที่เกิดขึ้นในลำธารและแม่น้ำ ปริมาณจะน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับความเข้มของฝนที่ตก ระยะเวลาที่ฝนตก และการแผ่กระจายของฝนที่ตกในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยรูปร่างของพื้นที่ลุ่มน้ำจะเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เกิดน้ำท่วมมากหรือน้อยแตกต่างกัน ดังนี้
• พื้นที่ลุ่มน้ำซึ่งมีรูปร่างคล้ายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เรียกว่า "ลุ่มน้ำรูปขนนก" จะเกิดปัญหาน้ำท่วมหรืออุทกภัยในบริเวณที่ลุ่มไม่มากนัก ทั้งนี้เพราะน้ำฝนที่ตกในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำของแต่ละลำธารย่อยจะทยอยไหลลงสู่ลำน้ำสายใหญ่ในเวลาที่ไม่พร้อมกัน
• พื้นที่ลุ่มน้ำซึ่งมีรูปร่างค่อนข้างกลม หรือเป็นรูปพัดเรียกว่า "ลุ่มน้ำรูปกลม" จะมีลำน้ำสาขาไหลลงสู่ลำน้ำสายใหญ่ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งจากโดยรอบเป็นรัศมีของวงกลม พื้นที่ลุ่มน้ำลักษณะนี้น้ำจากลำน้ำสาขาต่างๆ มักจะไหลมารวมกันที่ลำน้ำสายใหญ่ในเวลาใกล้เคียงกัน จึงทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่บริเวณลำน้ำสาขาบรรจบกันเสมอ
• พื้นที่ลุ่มน้ำซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ลุ่มน้ำสองส่วนรวมกัน เรียกว่า "ลุ่มน้ำรูปขนาน" มักจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ ในบริเวณพื้นที่ตอนล่างจากจุดบรรจบของพื้นที่ลุ่มน้ำสองส่วนนั้น
นอกจากนี้ สภาพภูมิประเทศของพื้นที่ลุ่มน้ำ หรือขนาดของพื้นที่ลุ่มน้ำ ความยาว และความกว้างของพื้นที่ลุ่มน้ำโดยเฉลี่ย ระดับความสูง ความลาดชันของลำน้ำ และความลาดชัน ของพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งแนวทิศทางของพื้นที่ลุ่มน้ำ ล้วนมีอิทธิพลโดยตรงต่อการเกิดน้ำท่วมตามที่ลุ่มต่างๆ เมื่อมีฝนตกหนักด้วย
ในขณะที่ชนิดและขนาดของเม็ดดิน ลักษณะการเกาะรวมตัว และการทับถมของดินตามธรรมชาติ นับเป็นปัจจัยที่จะทำให้การไหลซึมของน้ำลงไปในดินมีปริมาณมากหรือน้อยแตกต่างกัน รวมถึงพืชที่ปกคลุมดินและสภาพการใช้ที่ดินในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดปัญหาน้ำท่วมตามท้องที่ต่างๆ ไม่น้อยเช่นเดียวกัน
3. น้ำทะเลหนุน
โดยทั่วไปพื้นที่ราบลุ่มตามบริเวณสองฝั่งแม่น้ำที่อยู่ห่างจากปากอ่าวหรือทะเล มักได้รับอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลงอันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลหนุน เมื่อน้ำที่ไหลหลากลงมาตามแม่น้ำมีปริมาณมากและตรงกับฤดูกาลหรือช่วงเวลาที่ระดับน้ำทะเลหนุนสูงเกินกว่าปกติ จะทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมเฉียบพลันและอุทกภัยแก่พื้นที่ทำการเกษตรและในเขตที่อยู่อาศัยอย่างรุนแรง
4. การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม
พื้นที่หลายแห่งมักได้รับความเสียหายจากอุทกภัย เนื่องมาจากสภาวะแวดล้อมของพื้นที่บริเวณนั้นๆ มีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพเดิม ไม่ว่าจะเป็น
(1) การขยายตัวของเขตชุมชน และการทำลายระบบระบายน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เนื่องจากในอดีตพื้นที่ส่วนใหญ่เคยเป็นพื้นที่ทางการเกษตร ที่ประกอบด้วยพื้นที่ลุ่ม มีแอ่งน้ำ หนอง บึง และลำคลองธรรมชาติ เพื่อรับน้ำเข้าและระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้อย่างสะดวกโดยไม่มีน้ำท่วมขัง เมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นชุมชน แหล่งอุตสาหกรรม หรือที่อยู่อาศัย จึงมีการถมดินปรับพื้นที่ สร้างถนน หรือสิ่งก่อสร้าง ขยายตัวออกไปเป็นบริเวณกว้าง เป็นเหตุให้แอ่งน้ำทางธรรมชาติต้องถูกทำลาย และภายในเขตชุมชนที่ตั้งขึ้นใหม่มักไม่ได้สร้างระบบการระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพขึ้นแทน เมื่อถึงเวลาที่มีฝนตกหนัก จึงทำให้เกิดน้ำท่วมขังนานและสร้างความเสียหายตามมา
(2) แผ่นดินทรุด เนื่องจากพื้นที่ในเขตเมืองหรือชุมชน ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มักจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ และแก้ไขปัญหาด้วยการสูบน้ำจากแหล่งน้ำบาดาลขึ้นมาใช้อุปโภคบริโภคและเพื่อการอุตสาหกรรม จึงเป็นสาเหตุทำให้แรงดันของน้ำในแหล่งน้ำบาดาลที่ระดับลึกมีค่าลดต่ำลง น้ำในชั้นดินซึ่งทับอยู่บนชั้นกรวดทรายที่เป็นแหล่งน้ำบาดาลจะถ่ายเทไหลเข้าไปในชั้นกรวดทรายด้านล่างตามธรรมชาติ เมื่อน้ำในช่องว่างของดินสูญหายไปมากขึ้น ชั้นดินดังกล่าวจะค่อยๆ ยุบตัวลงทีละน้อย จนเกิดแผ่นดินทรุด ทำให้ผิวดินเป็นแอ่ง มีระดับต่ำกว่าปกติในบริเวณกว้าง ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมขังนาน หลังจากเกิดฝนตกหนัก เพราะการระบายน้ำออกไปจากพื้นที่ไม่สะดวก
ประกันภัยบ้านอยู่อาศัยรักษ์บ้าน ให้ความคุ้มครองที่อยู่อาศัย บ้านเดี่ยว บ้านจัดสรร ที่รับความเสียหายจากไฟไหม้, ฟ้าผ่า, ภัยระเบิด, ภัยจากยวดยานพาหนะ, ภัยจากอากาศยาน ภัยเนื่องจากน้ำ และภัยธรรมชาติ
สนใจรายละเอียด คลิก https://www.smk.co.th/others/ประกันรักษ์บ้าน หรือ โทร.1596 Line : smkinsurance
และสามารถติดตามเนื้อหาสาระดีๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://smkinsurance.blogspot.com/