ข่าวสารและบทความ

ประกันเดินทาง : ไปทอดกฐินเพื่ออะไร ปกติทอดกฐินช่วงไหน

ประกันเดินทาง : ไปทอดกฐินเพื่ออะไร ปกติทอดกฐินช่วงไหน

 

ภายหลังจากเทศกาลออกพรรษาของทุกปี หนึ่งในประเพณีที่สำคัญของชาวไทยที่มักพบเห็นกันอยู่บ่อยๆ คือการจัดงานทอดกฐิน ไม่ว่าจะเป็นในนามองค์กร หรือ การทอดกฐินของแต่ละชุมชน แต่หลายคนอาจไม่เคยทราบว่า ปกติแล้วการทอดกฐินทำไปเพื่ออะไร ปกติสามารถจัดพิธีทอดกฐินกันได้ช่วงไหนบ้าง สินมั่นคง ประกันภัย มีข้อมูลมาเล่าให้ฟังค่ะ

 

 

กฐิน คืออะไร?

คำว่า กฐิน โดยความหมาย แปลว่า ไม้สะดึง หรือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บผ้า เนื่องจากในสมัยโบราณเมื่อจะเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงก่อนแล้วจึงเย็บ เพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมือนในสมัยปัจจุบัน และเครื่องมือในการเย็บยังมีไม่เพียงพอเหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน ผ้ากฐิน จึงหมายถึงผ้าสำเร็จรูปโดยอาศัยไม้สะดึง นิยมใช้เรียกในปัจจุบัน

 

ประเพณีทอดกฐิน คืออะไร? จัดขึ้นช่วงไหน?

การทอดกฐิน คือ การถวายผ้ากฐินแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่วัดใดวัดหนึ่งหรือสถานที่ใดที่หนึ่งครบ 3 เดือน เพื่อให้พระได้มีผ้าเปลี่ยนใหม่ การทอดกฐินจึงถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ให้อานิสงส์แรง เพราะในปีหนึ่งแต่ละวัดจะรับกฐินได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น และจะต้องทำภายในเวลาที่กำหนดในการทอดกฐิน คือ 1 เดือนนับตั้งแต่วันออกพรรษาไปจนถึงวันวันลอยกระทง

 

ประเพณีทอดกฐิน เตรียมการอย่างไร?

ก่อนการทอดกฐินจะต้องมีการจองกฐินก่อนโดยจะต้องไปแจ้งความประสงค์แก่เจ้าอาวาสแล้วเขียนปิดประกาศให้ทราบ เมื่อจองและได้หมายกำหนดการเรียบร้อยแล้ว 
ผู้ที่ต้องการจะจัดกฐินควรเตรียมการดังนี้

    1. ติดต่อวัดที่จะไปทอดกฐิน โดยกำหนดวันเวลา เพื่อที่จะได้พิมพ์ซองกฐินแจกจ่าย และจองกฐินอย่างเป็นทางการ 

    2. เตรียมรายชื่อ ประธาน , รองประธาน , กรรมการ รวมถึงเตรียมเรื่องการเดินทางต่างๆ 

    3. จัดเตรียมของที่จะทอดกฐินและบริวารกฐิน ได้แก่ ผ้าทอดกฐิน หรือ ผ้าไตรครอง ถ้าเป็นวัดทั่วไป สามารถซื้อแบบสำเร็จรูป แต่ถ้าเป็นพระป่า อาจต้องใช้ผ้าขาว และ สีย้อม ส่วนบริวารกฐิน มีผ้าไตร 2 ชุด เพื่อถวายพระคู่สวด รวมไปถึงของใช้วัดต่างๆ เช่น ผ้าห่มพระประธาน ยารักษาโรค ธงกฐิน ธงมัจฉา จระเข้ ธงธรรมจักร ของใช้พระต่างๆ ครอบไตรพร้อมพานแว่นฟ้า บาตรพระ ย่าม ตาลปัตร สัปทนต์ เครื่องใช้ต่าง ๆ ของวัด เป็นต้น ควรเตรียมของตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อไม่กระชั้นจนเกินไป นอกจากของที่เตรียมในการจัดกฐินแล้ว ทางเจ้าภาพอาจต้องเตรียมอาหารว่าง และ เครื่องดื่ม สำหรับแขกเหรื่อที่มาร่วมงานบุญด้วย

    4. วันก่อนทำพิธีทอดกฐิน 1 วันเรียกว่า วันสุกดิบ ทุกคนจะมาช่วยกันเตรียมสถานที่ ปักธงเตรียมเครื่องใช้สำหรับถวายพระและของที่จะต้องใช้ในพิธี เป็นวันตั้งองค์พระกฐินซึ่งอาจจะเป็นที่บ้านเจ้าภาพหรือที่วัดก็ได้ และมักจะมีมหรสพในตอนกลางคืนของวันสุกดิบ

    5. วันรุ่งขึ้นจะเป็นวันทอดกฐิน ซึ่งจะแห่องค์พระกฐินไปตอนเช้าและเลี้ยงพระเพล หรืออาจจะทอดในตอนเพลแล้วแต่ความสะดวกของเจ้าภาพ หากเป็นกฐินสามัคคี คือ มีหลายเจ้าภาพซึ่งแยกกันตั้งองค์กฐินตามบ้านของตนเอง ให้แห่มาทอดรวมกันในวันรุ่งขึ้นเพราะแต่ละวัดจะรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว

 

พิธีทอดกฐิน มีขั้นตอนอย่างไร

พิธีทอดกฐิน จะมีพิธีสำคัญ 2 ขั้นตอน คือ

    1. การถวายผ้ากฐิน 
เมื่อถึงเวลาที่พระสงฆ์มาพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพจะอุ้มผ้ากฐินนั่งตรงต่อหน้าพระประธาน ตั้งนะโม 3 จบ หันมาทางพระสงฆ์แล้วกล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ เมื่อพระสงฆ์กล่าวรับ เจ้าภาพจะประเคนผ้าไตรกฐิน และเครื่องปัจจัยต่างๆ หลังจากนั้นพระสงฆ์จะลงความเห็นว่าพระรูปใดมีจีวรเก่าก็จะพร้อมในกันถวายให้พระรูปนั้นแล้วพระสงฆ์ก็จะสวด อนุโมทนา และเจ้าภาพก็จะกรวดน้ำเป็นอันเสร็จพิธี

    2. พิธีกรานกฐิน 
เป็นพิธีทางฝ่ายสงฆ์ โดยเฉพาะภิกษุที่ได้รับมอบผ้ากฐิน จะมีการกล่าววาจากรานกฐินตามลักษณะของผ้าที่กราน

 

 

คำถวายผ้ากฐิน 

เจ้าภาพกล่าวนะโม 3 จบแล้วตามด้วย


“อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะจีวะ ระทุสสัง สังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต สังโฆ อิมัง สะปะริวารัง กะฐินะจีวะระทุสสัง ปะฏิคัณหาตุ ปะฏิคคะเหตะวา จะ อิมินา ทุสเสนะ กะฐินัง อัตถะระตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ”


สวดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 โดยเพิ่มคำว่า ทุติยัมปิ นำหน้า แล้วสวดซ้ำเหมือนเดิม สวดซ้ำเป็นครั้งที่สามโดยเพิ่มคำว่า ตะติยัมปิ นำหน้าแล้วสวดซ้ำเหมือนเดิม 

คำแปล

“ข้าแต่พระสงฆ์ ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวาย ผ้ากฐินพร้อมทั้งบริวารนี้แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับ ผ้ากฐินกับทั้งบริวารนี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย รับแล้วจงกรานกฐินด้วยผ้านี้เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ”

 

อานิสงส์ที่ได้จากการทอดกฐิน

    • สร้างความสามัคคีในระหว่างพุทธบริษัท 
    • เป็นการสั่งสมทุนคือบุญกุศลไว้ในภายภาคหน้า 
    • ได้ชื่อว่าเป็นผู้สืบอายุพระพุทธศาสนา 
    • เป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ ได้สงเคราะห์พระสงฆ์ตามพระวินัย 
    • เป็นการรักษาประเพณีที่ดีงามสืบกันไป 
    • เป็นการบูชาพุทธโอวาทของพระบรมศาสดา ทำตนให้เป็นประโยชน์ สละทรัพย์ให้มีประโยชน์ต่อพุทธศาสนา 
    • เป็นการสร้างทางไปสวรรค์และนิพพานให้แก่ตนเอง

 

 

ให้คุณและทุกคนที่คุณรักปลอดภัยจากการเดินทางในทุกเทศกาล ด้วย ประกันภัยการเดินทาง คุ้มครองทั้งผู้เอาประกันภัยที่เดินทางรายเดี่ยวหรือเป็นหมู่คณะทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ หรือทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีกำหนดการเดินทางที่แน่นอนโดยให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตลอดเวลา 24 ชั่วโมงในช่วงระยะเวลาเดินทางตามที่ผู้เอาประกันภัยแจ้งไว้ สนใจรายละเอียด คลิก www.smk.co.th/productpadetail/3 หรือ โทร. 1596 ตลอด 24 ชั่วโมง  Line : smkinsurance และสามารถติดตามเนื้อหาสาระดีๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://smkinsurance.blogspot.com