ข่าวสารและบทความ

ประกันอุบัติเหตุ : ทรายดูดเกิดจากอะไร พร้อมวิธีเอาตัวรอด

ประกันอุบัติเหตุ : ทรายดูดเกิดจากอะไร พร้อมวิธีเอาตัวรอด

 

นับเป็นเหตุสลดใจสำหรับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในจังหวัดบุรีรัมย์ที่ประสบอุบัติเหตุทรายดูดจนทำให้สมาชิกในครอบครัวทั้ง 5 คนเสียชีวิต แม้ภายหลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่า จุดเกิดเหตุมีลักษณะทางกายภาพบางจุดเป็นเนินทรายบางจุดเป็นร่องลึกจากกระแสน้ำไหล และไม่พบลักษณะของทรายดูดแต่อย่างใด แต่ก็ยังเป็นที่กังวลของหลายคนว่า หากต้องเจอกับเหตุการณ์ทรายดูดจะมีวิธีเอาตัวรอดอย่างไรบ้าง และทรายดูดเกิดจากอะไร สินมั่นคง ประกันภัย มีข้อมูลมาฝากค่ะ

 

 

 

 

ทรายดูด คืออะไร?

ทรายดูด คือ ทรายที่มีลักษณะเป็นบ่อ ด้านบนเป็นทรายหรือดินที่ละเอียดเป็นเม็ดๆ ด่านล่างมีชั้นของน้ำแทรกอยู่ เมื่อทรายหรือดินด้านบนแห้งก็จะไม่ยืดหยุ่น มีความแข็งแรงพอที่จะเดินผ่านไปได้ แต่หากชั้นน้ำที่อยู่ด้านใต้เกิดแทรกซึมขึ้นมาที่ทรายหรือดินด้านบน จะเกิดความยืดหยุ่น หรือลื่นไหลจนเป็นของเหลว ทำให้เมื่อเดินไปเหยียบแล้วจะเกิดการยุบตัวลง คล้ายกับการถูกดูดเอาไว้ไม่ให้ขึ้นมาได้ง่ายๆ หากยิ่งดิ้นรนหรือตะเกียกตะกายขึ้นมาจากบ่อทรายดูด แรงที่ดิ้นจะยิ่งทำให้ตัวจมลง แต่หากปล่อยตัวนิ่งๆ ความหนาแน่นของร่างกายจะน้อยกว่าความหนาแน่นของบ่อทราย ทำให้ร่างกายลอยขึ้นได้เอง

 

ทรายดูดเกิดจากอะไร?

ทรายดูด เกิดจากน้ำผสมกับทราย ทำให้อนุภาคของทรายเกิดการเลื่อนตัวได้เร็วขึ้น ภาษาอังกฤษจึงเรียกทรายที่เลื่อนตัวอย่างรวดเร็วนี้ว่า Quicksand เมื่อทรายชุ่มน้ำ จะเปลี่ยนสภาพของทรายให้เป็นของเหลวและไหลตัวได้ง่าย ในกรณีที่เป็นบ่อขนาดใหญ่ เรียกว่า บ่อทรายดูด ซึ่งน้ำปริมาณมากที่สามารถทำให้ทรายจำนวนมหาศาลเปลี่ยนเป็นทรายดูดได้มักเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

    • น้ำใต้ดินที่พุ่งทะลักจากพื้นใต้โลก ผสมเข้ากับเม็ดทรายข้างบน
    • แผ่นดินไหว เพราะการสั่นสะเทือนของแผ่นดินช่วยให้เกิดการผสมและคลุกเคล้าของน้ำกับทรายได้เป็นอย่างดี
    • การผสมระหว่างดินทรายกับน้ำลดแรงเสียดทานระหว่างเม็ดทราย และเปลี่ยนสภาพของเม็ดทรายให้เป็นของเหลว ซึ่งเป็นเหตุให้ของหนักที่ตั้งอยู่บนทรายจมลงได้ หรือเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ตึกทั้งหลังที่ตั้งอยู่บริเวณที่มีน้ำใต้ดินผ่าน และเป็นดินทราย อาจจมทั้งหลังได้

 

 

ทรายดูด อันตรายอย่างไร?

นักฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ให้ข้อมูลว่า วัตถุ สิ่งของ หรือร่างกายมนุษย์ จะไม่สามารถจมลงไปในทรายดูดได้อย่างสมบูรณ์ แม้ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะติดอยู่ตรงนั้นไปตลอด เพราะจากการทดลองและคำนวณแรงพยุงแล้ว จะพบว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่วัตถุจะจมลงไปทั้งตัว (report in journal Nature) เนื่องจากทรายดูด ประกอบด้วยส่วนประกอบสำคัญ 4 อย่างคือ ทราย น้ำ โคลน และเกลือ เมื่ออยู่ในภาวะปกติไม่ได้ถูกรบกวน ส่วนประกอบทั้งสี่จะประกอบเป็นโครงสร้างที่เกือบจะเป็นของแข็งอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ถ้าหากมีสิ่งรบกวน เช่น มีใครเหยียบลงไป ก็จะทำให้กลายเป็นของเหลวได้เกือบสมบูรณ์เช่นกัน

ทีมงานได้ทำการทดลองเกี่ยวกับทรายดูด โดยการวัดแรงหนืด ความต้านทานของไหล และความสามารถในการจมของทรายดูด พบว่า ต่อให้ไม่รู้จักวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อจมลงในทรายดูด ร่างกายของมนุษย์หรือสิ่งของก็จะจมไปได้เพียงประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งจะไม่สามารถจมลงได้อีก แต่เรื่องที่น่าตกใจเกี่ยวกับการทดลองทรายดูดคือ จำเป็นจะต้องใช้พลังงานสูงมากในการถอดเท้าออกจากทรายดูด เพราะแรงที่จำเป็นต้องใช้ในการเอาขาออกจากทรายดูดนั้นมากถึง 100,000 นิวตัน ซึ่งเป็นแรงที่มากพอ ๆ กับที่ต้องใช้ในการยกรถยนต์คันหนึ่งขึ้นจากพื้น

 

สถานที่ที่อาจเกิดบ่อทรายดูด

    1. ริมตลิ่ง
    2. ชายหาด
    3. ริมทะเลสาบ
    4. หนองบึง และที่เฉอะแฉะ

 

 

วิธีเอาตัวรอดจากทรายดูด

การที่จะฉุดลากคนขึ้นจากทรายดูด จะต้องใช้แรงมหาศาล แต่หากเผลอตกลงไปในบ่อทรายดูดไม่ต้องตกใจ เนื่องจากร่างกายของคนปกติ มีความหนาแน่นเฉลี่ย 1 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร ขณะที่บ่อทรายดูด มีความหนาแน่นมากกว่าน้ำ คือประมาณ 2 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร นั่นหมายความว่า ร่างกายมนุษย์สามารถลอยอยู่เหนือทรายดูดได้ดีกว่าน้ำ  ให้พยายามทำตัวให้กว้างในแนวขวาง เหมือนกำลังว่ายน้ำแล้วจึงค่อย ๆ ว่ายออกไปทางด้านข้าง ก็จะสามารถหลุดออกจากทรายดูดได้เอง ด้วยวิธีการดังนี้

    1. ไม่ต้องตกใจ คุมสติให้มั่น ไม่ต้องดิ้นรน ยกไม้ยกมือเหมือนกับว่ายน้ำ เพราะจะยิ่งทำให้จมลงไปในทราย
    2. ให้หงายศีรษะขึ้นฟ้า และเอนตัวนอนหงาย เหมือนนอนเล่น และค่อย ๆ เลื่อนตัวไปเพื่อจับยึดต้นไม้ หรือขอนไม้
    3. หากจมลงไปแล้วจนเกือบถึงเอวให้ใช้วิธีเลื่อนตัวอย่างช้า ๆ พยายามก้าวขาขึ้นมาที่ผิวของทรายอย่างช้า ๆ อย่าก้าวเร็ว เพราะการก้าวเร็วจะทำให้เกิดสุญญากาศขึ้นที่เท้า และจะดูดตัวให้จมลงเร็วขึ้นไปอีก การก้าวขาอย่างช้าจะช่วยลดความหนืดได้มากขึ้น 
    4. เพิ่มพื้นที่ผิวให้กับร่างกาย โดยการกางแขนให้มากที่สุด จะช่วยให้ลอยอยู่ได้โดยไม่จมลงไป

 

 

ดูแลคุ้มครองคุณด้วย ประกันภัยอุบัติเหตุ ให้ความคุ้มครองต่อผู้เอาประกันภัยในกรณีที่ผู้เอาประกันภัย ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บทางร่างกายจนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือรุนแรงถึงขั้นทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต โดยให้ความคุ้มครองต่ออุบัติเหตุตลอด 24 ชั่วโมง ทุกแห่งทั่วโลก สนใจรายละเอียด คลิก www.smk.co.th/productpadetail/2 หรือ โทร. 1596 ตลอด 24 ชั่วโมง Line : smkinsurance และสามารถติดตามเนื้อหาสาระดีๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://smkinsurance.blogspot.com