ข่าวสารและบทความ

ประกันสุขภาพ : ใช้สารให้รสหวานแทนน้ำตาลจะปลอดภัยไหม

ประกันสุขภาพ : ใช้สารให้รสหวานแทนน้ำตาลจะปลอดภัยไหม

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก แนะนำให้คนรับประทานน้ำตาลแค่วันละ 6 ช้อนชาหรือประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ เท่านั้น แต่จากข้อมูลพบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลมากถึงวันละ 20 ช้อนชา เกินกว่าปริมาณแนะนำถึง 3 เท่า มีผลต่อระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดสูง เสี่ยงเป็นทั้งโรคเบาหวาน หัวใจ และความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน ทำให้หลายคนที่ต้องการลดน้ำหนัก แต่ติดรสชาติหวานอาจจะเลือกใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล  หรือในอุตสาหกรรมอาหารก็มีการใช้เพื่อลดแคลอรี่ในอาหาร แต่ยังคงรสชาติหวานที่คนชื่นชอบ  ซึ่งจะมีผลอย่างไร ปลอดภัยต่อร่างกายหรือไม่ สินมั่นคง ประกันสุขภาพ มีข้อมูลมาเล่าสู่กันฟังดังนี้ 

 

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล (Non-nutritive sweeteners หรือ NNS ) ทำหน้าที่อย่างไร

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล NNS สามารถกระตุ้นต่อมรับรสหวานได้ และทำให้เรารู้สึกหวานไม่แตกต่างจากการบริโภคน้ำตาลทรายตามปกติ ผู้ผลิตอาหารต่าง ๆ จึงได้ใช้ NNS ทดแทนการใช้น้ำตาลในอาหารได้ แต่ NNS แต่ละชนิดก็จะมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน ทั้งทางเคมีรสชาติและผลต่อร่างกาย  NNS ที่มีการใช้ในประเทศไทยแบ่งออกเป็น   5 ชนิดที่พบได้ในชีวิตประจำวัน

 

1. Aspartame (แอสปาแตม) 

มีการใช้งานมานานแล้ว เนื่องจากได้รับการรับรองจาก FDA (องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ) ตั้งแต่ปี 1981 ให้รสชาติที่หวานได้ และตามด้วยรสขมติดปลายลิ้นเล็กน้อย พบได้ในผลิตภัณฑ์ NNS ยี่ห้อ Equal และใช้ผสมในน้ำอัดลมสูตรไร้น้ำตาลร่วมกับ NNS ชนิดอื่นๆ เพื่อให้รสชาติอร่อยขึ้น
ข้อเสียคือ จะไม่มีรสหวานใด ๆ หากใส่ในอาหารที่ปรุงด้วยความร้อนจัด ๆ แนะนำให้ยกลงจากเตาก่อนแล้วค่อยผสม
ความปลอดภัยของ Aspartame ที่สามารถบริโภคได้
หากเทียบเป็นน้ำอัดลมกระป๋องที่ผสม aspartame จะสามารถกินได้ไม่ควรเกินวันละ 14 กระป๋อง หรือหากเป็น NNS ชนิดซอง ก็ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 68 ซอง 
ความปลอดภัย
ส่วนผลข้างเคียงต่อร่างกายในคนปกติทั่วไปนั้น นับว่าปลอดภัยและไม่ต้องกังวล เว้นแต่ผู้ที่ป่วยด้วยโรคทางพันธุกรรม Phenylketonuria ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะทราบตัวเองดีกว่า ควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มประเภทใด

 

2. Acesulfame K (อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม/เค) 

ได้รับการรับรองจาก FDA ในปี 1988 ไม่ค่อยพบว่าใช้เพียงตัวเดียวโดด ๆ ในเมืองไทย แต่นิยมผสมกับแอสปาแตม ในเครื่องดื่มกลุ่มน้ำอัดลมสูตรไร้น้ำตาล 
ความปลอดภัยของ Acesulfame K ที่สามารถบริโภคได้
หากเทียบเป็นน้ำอัดลมกระป๋องแล้ว ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 25 กระป๋อง หรือหากเป็น NNS แบบซองคือ ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 20 ซอง

 

3. Sucralose (ซูคราโลส) 

ได้รับการรับรองจาก FDA ในปี 1999 และนิยมนำมาผสมในน้ำอัดลมสูตรไร้น้ำตาล เพื่อให้รสชาติกลมกล่อมมากขึ้น NNS ชนิดนี้ ให้รสชาติหวานที่ใกล้เคียงน้ำตาลทราย ในเมืองไทยมีซูคราโลสแบบซองที่ใช้ผสมอาหารแทนน้ำตาล ชื่อยี่ห้อ D-et และมีข้อดีกว่าแอสปาแตมคือ ใส่ในอาหารที่มีความร้อนได้ โดยความหวานจะยังคงอยู่ได้ดีกว่า
ความปลอดภัยของการใช้ Sucralose
เทียบเป็นน้ำอัดลมกระป๋องสูตรไร้น้ำตาล ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 15 กระป๋อง หรือแบบซองได้ ไม่ควรเกินวันละ 30 ซองครับ

 

4. Stevia หรือ หญ้าหวาน 

หญ้าหวานหรือสารสกัดจากหญ้าหวานได้รับการรับรองในปี 2008 ถือว่าเป็นน้องใหม่สุดในวงการ NNS ได้รับความนิยมเพราะว่าถูกมองว่าเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ ในขณะที่ NNS ชนิดอื่น เป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้น มีความเชื่อว่ามีความปลอดภัย
ความปลอดภัยของการใช้ หญ้าหวาน 
ยังคงปลอดภัยอยู่ แต่ก็ยังต้องการงานวิจัยอีกเพื่อรองรับความปลอดภัยที่ดีขึ้น แต่หากนำไปผสมในน้ำอัดลมสูตรไร้น้ำตาล ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 16 กระป๋อง หรือหากเป็น NNS ชนิดซอง ก็ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 30 ซอง


5. กลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar-alcohol)

มีหลายชนิด ได้แก่ Sorbitol Mannitol Xylitol และอื่นๆ มีความแตกต่างจากสี่ชนิดแรกที่ไม่นิยมนำมาผสมอาหารหรือเครื่องดื่มที่บริโภคครั้งละมากๆ อาจใช้ผสมในหมากฝรั่ง ลูกอมหรือน้ำยาบ้วนปากเท่านั้น เพราะมีงานวิจัยรองรับว่า น้ำตาลแอลกอฮอล์สามารถลดโอกาสและความรุนแรงของฟันผุได้

ความปลอดภัยของการใช้น้ำตาลแอลกอฮอล์ 
ไม่น่าเป็นห่วง เพราะผลิตภัณฑ์อาหารหรือเครื่องดื่มที่ใช้ จะค่อนข้างมีอยู่จำกัด ข้อมูลในส่วนของความอันตรายจึงไม่ค่อยมี

ความปลอดภัยของการใช้ 

มีรายงานว่า หากบริโภคหมากฝรั่ง ลูกอมที่มีการใช้น้ำตาลชนิดนี้ในปริมาณมาก จะกระตุ้นให้เกิดการถ่ายท้องได้ เพราะน้ำตาลแอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์เป็นยาระบายหากได้รับในปริมาณมาก

 

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาล

• มีงานวิจัยรองรับว่า การบริโภค NNS ในปริมาณมากหรือบ่อยครั้ง เป็นการกระตุ้นให้มีความอยากรับประทานอาหารหวานเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติได้

• แต่มีงานวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นการศึกษาที่ติดตามผล 4 สัปดาห์ โดยเปรียบเทียบสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้เลือกดื่มน้ำตาลอัดลมที่ใช้แอสปาแตมแทนน้ำตาลทรายปกติ อีกกลุ่มหนึ่งเป็นน้ำตาลปกติ พบว่าหลังจากผ่านไปสี่สัปดาห์ พลังงานรวมที่ทั้งสองกลุ่มได้รับจากอาหารต่อวันนั้น “ไม่แตกต่างกัน” และน้ำหนักตัวของผู้ร่วมการศึกษาทั้งสองกลุ่ม “ก็ไม่แตกต่างกัน” (Reid M. et al. (2010))

• อีกงานวิจัยหนึ่ง คือให้ครอบครัวจำนวน 100 ครอบครัวเลือกบริโภคอาหารที่ใช้ Sucralose เป็นส่วนผสม ทั้งเครื่องดื่มและอาหาร ทดแทนการกินน้ำตาลปกติ เป็นเวลา 6 เดือน เปรียบเทียบกับครอบครัวที่กินอาหารตามปกติที่เคยทำจำนวน 93 ครอบครัว พบว่าการเปลี่ยนแปลงของ BMI รอบเอวและร้อยละของไขมันในร่างกายของสมาชิกในครอบครัวทั้งสองกลุ่มนั้น “ไม่แตกต่างกัน” (Rodearmel SJ et al. (2007))

• นอกจากนี้ การศึกษาเกี่ยวกับเชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือ Probiotic เริ่มได้ความสนใจมากขึ้น พบว่า probiotic เหล่านี้ได้รับผลกระทบหากมีการบริโภค NNS เป็นประจำ ซึ่งยังต้องการข้อมูลยืนยันถึงความปลอดภัยหรือความเหมาะสมที่มากกว่านี้


คำแนะนำการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล

• อยากดื่มน้ำอัดลม  เลือกดื่มสูตรไร้น้ำตาลแทน เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไป

• หากอยากกินอะไรหวาน ๆ ลองกินผลไม้แทน

• ใช้ NNS ใส่ในเครื่องดื่มแทนน้ำตาลได้ ไม่ต้องกลัว แต่ระวังการใช้จนเป็นนิสัยจะมีโอกาสติดหวานได้

• การติดรสชาติหวาน สามารถสังเกตได้เบื้องต้นว่าเราบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีความหวานบ่อยหรือมากเกินไปไหม ถ้าใช่ต้องยอมรับก่อนว่ามีปัญหา แล้วค่อยหาวิธีในการลดปริมาณการกินลง เป็นทางที่ดีที่สุด

สำหรับผู้ต้องการควบคุมน้ำหนัก ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินหวาน ด้วยการค่อยๆ ลดความหวานของอาหารในแต่ละวันลงให้น้อยกว่าเดิมเรื่อยจนเคยชิน  หากอยากกินของหวานให้เปลี่ยนเป็นผลไม้แทน เช่น แอปเปิ้ล ส้ม สาลี่ สับปะรด หรือแตงโมแทน เพื่อลดปริมาณแคลอรี่จากน้ำตาล ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพระยะยาว

สุขภาพต้องใส่ใจดูแลและควรวางแผนล่วงหน้า ประกันสุขภาพจะช่วยให้เราหมดกังวล เมื่อยามเจ็บป่วย ไม่ต้องกังวลกับค่าใช้รักษาที่จะตามมา สินมั่นคง ประกันสุขภาพมีแผนประกันที่หลากหลาย ตอบทุกความต้องการ  คลิก www.smk.co.th/PreHealth.aspx หรือ โทร 1596  สินมั่นคงประกันสุขภาพ..เราประกัน คุณมั่นใจ..


ที่มา:  planforfit
Photo source: pexels.com