ข่าวสารและบทความ

ประกันรถยนต์ : อาการรถสั่น....เกิดจากอะไร

ประกันรถยนต์ :  อาการรถสั่น....เกิดจากอะไร

ทำอย่างไรดีล่ะ หากรถของเราอยู่ดีๆ ก็เกิดอาการสั่น..ไม่หยุดขึ้นมา เราคงกล้าๆ กลัวๆ ที่จะใช้งานรถต่อ โดยเฉพาะรถที่ผ่านการใช้งานมานาน ก็ยิ่งมีโอกาสที่เครื่องสั่นได้มาก หากเจออาการนี้จะต้องตรวจเช็คส่วนไหนของเครื่องยนต์บ้าง สินมั่นคง ประกันรถยนต์ ได้รวบรวมสาเหตุของอาการรถสั่น..มาให้ลองตรวจเช็คกันจะได้ทราบว่า มีปัญหาที่ส่วนไหนกันแน่จะได้แก้ไขได้ตรงจุด 


สาเหตุอาการสั่นของเครื่องยนต์ สามารถเช็คได้จาก

1. ยางแท่นเครื่อง
วิธีสังเกตยางแท่นเครื่องเสื่อมสภาพ เราจะเห็นอาการตั้งแต่จอดรถติดเครื่องยนต์ และเปิดเครื่องปรับอากาศในรถ รอให้คอมเพรสเซอร์แอร์ทำงาน เครื่องยนต์จะสั่นอย่างเห็นได้ชัด และจะลดอาการสั่นเมื่อคอมเพรสเซอร์แอร์ตัดการทำงาน จากนั้นลองใส่เกียร์ D หรือเกียร์ R ปล่อยให้รถไหลออกตัวช้าๆ ค่อยๆ เหยียบเบรก ก็จะเห็นอาการเครื่องยนต์ที่สั่นสะเทือน ซึ่งโดยปกติแล้วทางศูนย์บริการจะให้เปลี่ยนยางแท่นเครื่องที่ระยะ 100,000 กม. แต่ถ้าไม่ได้ใช้งาน รถหนักก็ยังสามารถใช้งานต่อไปได้ ยังไม่ต้องเปลี่ยนในทันที แต่เพื่อความสบายใจควรเปลี่ยนตามระยะดีที่สุด


2. หาจุดรั่วท่อ Vacuum
ท่อ Vacuum มีหน้าที่เร่งไฟจุดระเบิดในช่วงรอบเดินเบา เพื่อช่วยให้รอบเดินเบาเครื่องยนต์เงียบไม่สั่น สังเกตถ้ารั่วจริงๆ ใช้ Timing Light เช็คอาการ เมื่อเราถอดสาย Vacuum ออกไฟจุดระเบิด จะไม่มีการเปลี่ยนไปจากตอนที่เสียบอยู่ เนื่องจากสายท่อยาง เมื่อผ่านอายุการใช้งานมายาวนาน โดนความร้อนในเครื่องยนต์นานๆ ก็จะเริ่มแข็ง และปริแตกบริเวณปลายท่อ ทำให้หลุดออกจากจุดที่สวมต่อกับท่อต่างๆ เมื่อเส้นใดเส้นหนึ่งหลุด ย่อมส่งผลถึงเครื่องยนต์โดยตรง 


3. ลิ้นปีกผีเสื้อ Speed Control 
ถ้ารอบเครื่องไม่นิ่ง ขึ้น-ลง รอบเดินเบาต่ำจนทำให้เครื่องดับ เครื่องสั่นขณะเร่ง หรือเร่งเครื่องแล้วความเร็วขึ้นช้า  ให้ตรวจเช็กที่ลิ้นปีกผีเสื้อเป็นอันดับต้นๆ ลิ้นปีกผีเสื้อทำหน้าที่วัดปริมาณของอากาศที่ผ่านเข้าไปในท่อ หากเซ็นเซอร์วัดมุมของลิ้นปีกผีเสื้อสกปรกก็สามารถทำความสะอาดได้ด้วยสเปรย์ทำความสะอาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยถอดขั้วสายไฟออกแล้วฉีดน้ำยาสำความสะอาดลงไปที่ขั้วของเซ็นเซอร์ เช็ดให้แห้ง แล้วลองติดเครื่องยนต์ดูว่ายังสั่นอยู่หรือเปล่า  หรืออาจให้ช่างถอดออกมาล้างทำความสะอาด เมื่อล้างแล้วดีขึ้นหรือหายสั่น ก็แสดงว่าเกิดจากลิ้นปีกผีเสื้อ แต่ถ้าหากลองล้างทำความสะอาดดูแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น อาจต้องเปลี่ยนลิ้นปีกผีเสื้อใหม่


4. ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง
จากอายุการใช้งานที่ยาวนาน ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงอาจมีอาการเสื่อมสภาพ หรือกรองน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้มานานไม่เคยเปลี่ยน อาจเกิดการอุดตัน เร่งไม่ขึ้น หรือสตาร์ตติดยากแถมด้วย ทำให้ไดสตาร์ทหมุนจนไฟแบตเตอรี่เกือบหมด เครื่องถึงจะติด และพอติดขึ้นมาเครื่องก็จะสั่นและดับ 

5. หัวเทียน  สายหัวเทียน และคอยล์จุดระเบิด 
ปัญหาของระบบจุดระเบิด  ไม่ว่าจะเป็นหัวเทียนเก่าเสื่อมสภาพ สายหัวเทียนขาดใน คอยล์จุดระเบิดทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพหรือเสีย อาการจะมีอาการสะดุดเมื่อรถวิ่งอยู่ดีๆ ซึ่งทั้ง คอยล์ หัวเทียน สายหัวเทียน เมื่อเสื่อมสภาพจะทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้เหมือนกัน ซึ่งมีวิธีสังเกตหัวเทียนดังนี้
- หากมีสภาพสีดำแห้ง สามารถเช็ดออกได้ง่าย แสดงว่าส่วนผสมน้ำมันหนา
- มีสภาพน้ำมันเครื่องเปียก แสดงว่าลูกสูบ กระบอกสูบ แหวนลูกสูบสึกหรอ หรือหลวม
- มีสภาพไหม้ แสดงว่า เครื่องยนต์ทำงานที่อุณหภูมิสูงเกินไป อาจใช้หัวเทียนผิดเบอร์ หรือผิดสเป็ค
- มีสภาพสีขาวจับ หรือสีเหลืองจับ แสดงว่าไฟอ่อนเปลี่ยนหัวเทียนให้ร้อนขึ้น

ที่กล่าวมาเป็นสาเหตุใหญ่ๆ ที่อาจทำให้เกิดเครื่องยนต์สั่น เพื่อจะได้แก้ไขได้ตรงจุด เราไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์ในส่วนอื่นๆ ตามมาได้ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการซ่อมที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

เพิ่มความมั่นใจในทุกเส้นทางการขับขี่ เลือกประกันภัยรถยนต์ที่วางใจ  สินมั่นคง ประกันภัยรถยนต์ พร้อมดูแล สอบถามและเช็คเบี้ยประกันภัยง่ายๆ ที่  www.smk.co.th/premotor.aspx หรือ โทร. 1596  สินมั่นคงประกันภัย..ประกันรถ ประกันเวลา..


ที่มา: thairath.co.th
Photo source: freepix.com