ปั่นจักรยานไหว้พระ 5 วัดเก่าแก่บนเกาะเกร็ด
ใกล้ช่วงวันสำคัญของชาวพุทธ วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา เป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะได้ไปไหว้พระทำบุญ หลายคนมองหาวัดที่จะเดินทางไปทำบุญในช่วงวันหยุด ที่จะได้ทั้งทำบุญและพักผ่อนไปในตัว จึงขอแนะนำวัดเก่าแก่บนเกาะเกร็ดจังหวัดนนทบุรี ที่เดินทางได้สะดวก ไม่ไกลกรุงเทพฯ และเป็นวัดมีประวัติยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาที่จะได้ทั้งทำบุญและเดินทางท่องเที่ยวไปในตัว ด้วยการนั่งเรือ เดินเล่น และปั่นจักรยานรอบเกาะ จะมีวัดไหนบนเกาะเกร็ดที่น่าสนใจบ้าง มีข้อมูลมาแนะนำค่ะ
บนเกาะเกร็ดมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัดเก่าแก่ ร้านเครื่องปั้นดินเผา ไปจนถึงพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องปั้นทางศิลปะแขนงต่างๆ นอกจากนี้ บนเกาะเกร็ดยังมีกิจกรรมให้ทำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปั่นจักรยานรอบเกาะ การเดินเลือกซื้อของฝากจำพวกเครื่องปั้นดินเผา และแวะชิมขนมไทยโบราณ อาหารชาวมอญโบราณ และการนั่งเรือชมทัศนียภาพรอบเกาะเกร็ด
การเที่ยวบนเกาะเกร็ด มี 3 รูปแบบ
1. เดินเที่ยว สามารถเดินไปตามทางได้เรื่อยๆ มีลมแม่น้ำพัดเย็นสบาย ถ้าเหนื่อยก็แวะพัก
2. ปั่นจักรยานรอบเกาะ ค่าเช่าจักรยานคันละ 40 บาท มีให้เช่า 2 จุดคือ ท่าเรือวัดปรมัยยิกาวาส และท่าเรือวัดป่าฝ้าย ปั่นไปสบายๆลมเย็น ได้เที่ยวแล้วก็ได้ออกกำลังกายไปในตัว
3. นั่งเรือรอบเกาะ มีเรือข้ามฟากที่วัดสนามเหนือ ข้ามมาที่ท่าน้ำวัดปรมัยยิกาวาส หากจะนั่งเรือรอบเกาะ มีเรือหางยาว นั่งได้ประมาณ 8 คน เหมาลำ ลำละ 500 บาท แต่แวะคลองขนมหวาน ราคา 700 บาท เรือเล็กเช่าจากปากเกร็ด เข้าคลองขนมหวาน ราคา 150 – 200 บาท
แนะนำวัดเก่าแก่บนเกาะเกร็ด
1. วัดศาลากุล
ตั้งอยู่ที่บ้านศาลากุล หมู่ 2 ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
วัดศาลากุล เป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และถูกปล่อยทิ้งร้างตั้งแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาจนถึงประมาณสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการค้ากับต่างประเทศมาก บริเวณแห่งนี้จึงเป็นปากด่านจอดของเรือสำเภา เพื่อรอรับสินค้า เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน รัตนกุล) สมุหนายกซึ่งได้รับราชการตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 2 ท่านมีสำเภาค้าขายกับจีน และได้มาสร้างศาลาให้บริวารพักบริเวณใกล้วัดแห่งนี้ ศาลานี้คนทั่วไปจึงเรียกกันว่า “ศาลาเจ้าคุณกุน” หรือ “ศาลาจีนกุน” วัดที่อยู่ใกล้ศาลาจึงเรียกว่า “วัดศาลากุล” รวมทั้ง “เกาะศาลากุน ” ยังเป็นชื่อเดิมของเกาะเกร็ดด้วย สำหรับชื่อวัดนั้นเขียนแตกต่างกันเป็น 2 อย่างคือ ศาลากุล และศาลากุน แต่ปัจจุบันใช้ชื่อ “วัดศาลากุล” เมื่อการค้าสำเภายกเลิกไป บริเวณวัดศาลากุลที่สงบเงียบจึงเป็นวัดสำหรับพระสงฆ์ผู้รักสงบ
วัดศาลากุล นอกจากจะเป็นวัดเก่าแก่ที่มีประวัติยาวนานแล้ว ยังมีพระเกจิอาจารย์ผู้มีความเก่งกล้าสามารถในการปลุกเสกเครื่องรางของขลังที่มีชื่อเสียงในยุคเก่า อย่างหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน "ขุนกระบี่วานร ฤทธิเกริกไกร หนึ่งในสยาม" คือสมญานามที่คนในวงการพระเครื่องตั้งให้กับ หนุมาน หลวงพ่อสุ่น นับเป็นสุดยอดของขลังหนึ่งในชุดเบญจภาคี ที่นักสะสมต้องหามาไว้ครอบครองบูชา
การเดินทางไปยังวัดนี้ต้องนั่งเรือที่ท่าวัดกลางเกร็ด เมื่อขึ้นที่ท่าเกาะเกร็ดจะมีถนนไปยังวัดนี้ระยะทางประมาณ 1,400 เมตร
2. วัดป่าฝ้าย (วัดฉิมพลี)
เดิมชื่อวัดป่าฝ้าย วัดแห่งนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง เช่นเดียวกับวัดป่าเลไลย์ ซึ่งอยู่ติดกัน แต่เดิมวันฉิมพลีธาวาส ที่เรียกกันว่า “วัดป่าฝ้าย” สันนิษฐานว่าคงมีชาวบ้านปลูกฝ้ายกันมากบริเวณใกล้วัดนี้ เป็นวัดที่สำคัญของเกาะเกร็ด มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ สวยงามพิเศษกว่าวัดใดในเกาะเกร็ด โดยประวัติความเป็นมา วัดป่าฝ้ายเป็นวัดร้างเมื่อพม่ามายึดเมืองนนทบุรี เมื่อ พ.ศ.2308 จนมาถึงเมื่อพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ.2310 ในปี พ.ศ.2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คนมอญที่อพยพหนีภัยพม่า เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในพระราชอาณาจักรไทยมาอยู่ที่บ้านปากเกร็ด บริเวณปากด่าน บางตลาด คนมอญเหล่านั้นได้มาอยู่ที่เกาะเกร็ด และบูรณะวัดป่าฝ้ายขึ้นใหม่อีกครั้ง และเรียกวัดนี้เป็นภาษามอญว่า “เภียะฝ้าย” แปลว่า วัดป่าฝ้าย และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ. 2358 มีคนมอญอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารครั้งนี้ มากถึงประมาณ 40,000 คน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คนมอญเหล่านั้นไปอยู่ที่เมืองสามโคกและที่ปากเกร็ด
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิเชียรวารีเป็นแม่กองบูรณะวัดป่าฝ้าย เพื่อให้ได้เป็นวัดของชุมชนมอญที่บ้านปากเกร็ด และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเป็นวัดฉิมพลีสุทธาวาส (พระนามเดิมของพระองค์คือฉิม) แต่ต่อมามีผู้เรียกชื่อ “วัดฉิมพลี “ และ “วัดสิมพลี” แต่คนมอญยังคงเรียก “เภี่ยฝ้าย” หรือ “วัดป่าฝ้าย” ตลอดมา
อุโบสถของวัดเป็นสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาที่คงอยู่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน แม้จะมีการซ่อมแซมบูรณะในเวลาต่อมา แต่การบูรณะนั้นยังคงรักษารูปแบบเดิมไว้ได้อย่างดี เป็นอุโบสถ์ขนาดเล็กที่งดงาม ฐานโบสถ์มีความโค้งแบบเรือสำเภา ลายหน้าบันจำหลักไม้เป็นรูปพระจันทร์ทรงรถสักการะเจดีย์พระมหาจุฬามณี ภายในบรรจุสิ่งที่สำคัญ 3 สิ่งของพระพุทธเจ้า คือ ผ้าโพกพระเศียร พระโมฬี(ผม) พระเขี้ยวแก้วข้าวขวา ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างของวัด แม้จะชำรุดทรุดโทรมมาก แต่ยังคงความงามไว้ เสมาเป็นเสมาแบบนั่งแท่นสมัยกรุงศรีอยุธยา ตัวเสมาเป็นหินเกรนิตมีรูปทรงงามเฉพาะเสมา มีการบูรณะแทนของเดิมในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อมีการบูรณะกำแพงอุโบสถ
3. วัดปรมัยยิกาวาสวรรินทร์
วัดปรมัยยิกาวาสวรรินทร์ เดิมชื่อ “วัดปากอ่าว” มีอายุกว่า 200 ปี เป็นวัดมอญที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากที่ตั้งของวัดอยู่บริเวณที่เป็นหัวมุมของเกาะเกร็ด ตรงทางแยกคลองลัดเกร็ดกับแม่น้ำเจ้าพระยาประกอบกับคุ้งน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณจากบางพูดมาถึงอ้อมเกร็ดมีลักษณะคล้ายอ่าว และวัดตั้งตรงแยกคลองลัดเกร็ด จึงเรียกว่า “วัดปากอ่าว” มอญเรียกว่า “เภี่ยะมุ๊ฮ์เกี้ยะเติ้ง” หรือ “เภี่ยะมุ่ฮ์ฮ้ะเติ้ง” แปลว่า วัดหัวแหลม
ภายในวัดมีอุโบสถ วิหาร พุทธไสยาสน์ พร้อมพระพุทธรูปในวิหารคด รอบวิหารพุทธไสยาสน์เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น แสดงถึงความสำคัญของวัดปากอ่าวในอดีต วัดปากอ่าวได้ถูกทิ้งร้างเมื่อครั้งพม่าเข้ายึดเมืองนนทบุรี และยึดด่านปากเกร็ด ตั้งแต่ พ.ศ.2308 จนถึง พ.ศ. 2310 เมื่อพม่าเข้ามาเผาทำลายกรุงศรีอยุธยา ทำให้วัดปากอ่าวกลายเป็นวัดร้าง จนถึง พ.ศ.2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯให้ชาวมอญ พร้อมพระภิกษุมอญที่หลบหนีจากการกดขี่ เข้าทำลายล้างเมืองมอญของพม่า และได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารนั้นให้มาอยู่ที่บ้านปากเกร็ด และเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดผ้ากฐินที่วัดปากอ่าว เมื่อ พ.ศ. 2417 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ และพระราชทานนามวัดว่า “วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร” และสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระยาสุดารัตนราชประยูร ผู้ทรงมีพระคุณที่ได้อภิบาลสมเด็จพระเทพสิรินทรามาตย์พระบรมราชชนนีครั้งทรงพระเยาว์ และเมื่อพระบรมราชชนนีสวรรคตได้ทรงอภิบาลพระองค์พร้อมทั้งพระอนุชาและพระขนิษฐาของพระองค์เมื่อยังทรงพระเยาว์เช่นกัน และเป็นโอกาสที่จะได้ทรงสนองพระคุณ
4. วัดเสาธงทอง
วัดเสาธงทองเดิมชื่อวัดสวนหมาก เป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างโดยชาวมอญที่ได้มาอยู่ที่เกาะเกร็ดในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมมีต้นหมากขึ้นอยู่เต็ม จึงเรียกว่า “วัดสวนหมาก” มอญเรียกว่า “เพี้ยะอะล้าต” แปลว่า วัดตะวันตก เพราะอยู่ทางทิศตกของเกาะเกร็ด สร้างโดยชาวรามัญสมัยรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมมารดาอำภาในรัชกาลที่ ๒ (คุณทวดของ พล.ต.ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) พร้อมด้วยกรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ และกรมขุนวรจักรธารานุภาพ ได้ร่วมกันบูรณะวัดสวนหมากในปลายรัชกาลที่ 4 และเปลี่ยนนามวัดว่า “วัดเสาธงทอง” (อาจเป็นเพราะสร้างเสาหงส์หลายต้นปักเรียงรายอยู่หน้าวัด)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงฉลองวัดเสาธงทอง ซึ่งเป็นวัดเจ้าจอมมารดาอำภาปฏิสังขรณ์ มีปรากฎในจดหมายเหตุครั้งรัชกาลที่ 4 ว่า ทรงได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปช่วย และโปรดให้ละครหลวงขึ้นไปเล่น
วัดเสาธงทองเป็นวัดที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่งดงาม บริเวณวัดมีต้นไม้ใหญ่ยืนต้นอยู่รายรอบ โดยเฉพาะมีต้นไม้ยางใหญ่อายุ 200 ปีหน้าวิหารเก่า วัดเสาธงทองเป็นวัดที่ร่มรื่นด้วยแมกไม้และตั้งอยู่ริมแม่น้ำ มีอากาศสดชื่น ทำให้ผู้ที่ผ่านไปมามีความรู้สึกสงบสบาย วัดเสาธงทองจึงเป็นสถานที่ที่มีพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์นิยมมาพักผ่อนกันมาก ดังเช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประทับแรมที่วัดเสาธงทอง เมื่อ พ.ศ. 2440 ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับพระอุดมญาณมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง ทรงมีพระราชดำรัสถึงชื่อเกาะเกร็ด ซึ่งครั้งนั้นเรียกว่า “เกาะศาลากุน” ว่าเป็น “เกาะสำราญ” การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการปั้นโอ่ง และปั้นอ่างที่โรงปั้นของนางยัวะและนายจอ ซึ่งอยู่ใกล้วัดเสาธงทองอีกด้วย
5. วัดไผ่ล้อม
วัดไผ่ล้อมเป็นวัดโบราณที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยที่ตั้งของวัดอยู่กลางระหว่างวัดมอญ 2 วัด คือ วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร และวัดเสาธงทอง คนมอญจึงเรียก “วัดไผ่ล้อม” ในภาษามอญว่า “เภี่ยะโต้” แปลว่า วัดกลาง
เมื่อ พ.ศ. 2527 หลวงพ่ออุตตมะ วัดวังวิเวการาม ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ได้ร่วมกับชาวบ้านพัฒนาวัดไผ่ล้อมจนมีสภาพดี ได้ใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมมอญที่สำคัญ วัดไผ่ล้อมจึงมีนักท่องเที่ยวมาทำบุญที่วัดกันมาก สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระธาตุรามัญเจดีย์ เป็นพระเจดีย์แบบมอญที่มีความงาม องค์พระเจดีย์ประดิษฐานอยู่บนฐานใหญ่ รอบฐานในทิศทั้ง 8 มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวัดแบบวัดมอญทั้ง 8 ทิศ กำแพงแก้วล้อมรอบพระธาตุรามัญเจดีย์ ทั้งด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกมีซุ้มประตูแบบมอญทั้ง 2 ด้าน มีโบสถ์ที่งดงาม ลายหน้าบันจำหลักไม้เป็นลายดอกไม้ มีคันทวยและบัวเสาที่งดงาม หน้าโบสถ์มีเจดีย์ขนาดย่อมสององค์รูปทรงแปลก ฐานสี่เหลี่ยมย่อมมุมสิบสอง แต่องค์ระฆังทำเป็นรูปบาตรคว่ำมียอดทรงกลม ประดับลายปูนปั้นอย่างสวยงาม คนมอญเรียกว่า “เพี๊ยะโต้”
ก่อนการเดินทางท่องเที่ยวควรวางแผนการเดินทางล่วงหน้า จะช่วยลดปัญหาและอุปสรรคระหว่างการเดินทาง อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรลืมก่อนการเดินทางทุกครั้งก็คือ การเลือกความคุ้มครองเพื่อคุณและคนที่คุณรักจากอุบัติเหตุ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดการเดินทาง ด้วยประกันการเดินทาง ที่ราคาไม่แพง เริ่มต้นเพียง 13 บาทต่อวันเท่านั้น แต่ได้รับความคุ้มครองที่คุ้มค่า สามารถซื้อได้ง่ายผ่าน www.smk.co.th/pretravel โดยกำหนดวัน เวลา สถานที่ ได้ล่วงหน้า หรือ โทร.1596
สินมั่นคงประกันภัย ..เราประกัน คุณมั่นใจ..