ข่าวสารและบทความ

ประกันสุขภาพ : ไวรัส RSV คืออะไร เป็นกี่วัน? หายเองได้ไหม?

ประกันสุขภาพ : ไวรัส RSV คืออะไร เป็นกี่วัน? หายเองได้ไหม?

 

โรคระบาดในเด็กเล็กที่กำลังระบาดอย่างหนักในขณะนี้ คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV พบมากในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุระหว่าง 2 เดือนถึง 2 ปี จะเเสดงอาการคล้ายเป็นไข้หวัด มีเสมหะจำนวนมาก หายใจไม่สะดวก ก่อนลุกลามเป็นโรคหลอดลม หรือปอดอักเสบ แม้ว่าตัวเชิ้อไวรัส RSV จะไม่รุนแรงเเละสามารถหายได้เอง เเต่ภาวะเเทรกซ้อนที่จะตามมาด้วยนั้น คือ สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเสียชีวิตดังที่เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมาก

การมีประกันสุขภาพเด็กที่คุ้มครองโรคฮิตในเด็ก ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่, ไข้เลือดออก, ตาแดง, มือเท้าปาก จะเพิ่มความอุ่นใจ เเละช่วยลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โรคระบาดในเด็กเล็กเช่นนี้ สินมั่นคง ประกันสุขภาพ รวบรวมข้อมูลเชื้อไวรัส RSV มาฝากกัน

 

สารบัญบทความ
    1. ไวรัส RSV คืออะไร
    2. อาการ ไวรัส RSV
    3. กลุ่มเสี่ยง ไวรัส RSV
    4. วิธีรักษา ไวรัส RSV
    5. วิธีป้องกัน ไวรัส RSV
    6. ค่ารักษา ไวรัส RSV
    7. ผลข้างเคียงเมื่อหายจาก ไวรัส RSV

 

 

1. ไวรัส RSV คืออะไร ?

เชื้อไวรัส RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus คือ เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนเเละส่วนล่าง มี 2 สายพันธุ์ คือ RSV-A, RSV-B เเละสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์ A คือ ON1

เชื้อไวรัสดังกล่าวจะทำให้ร่างกายผลิตเสมหะเป็นจำนวนมาก ทำให้หายใจไม่สะดวก สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านละอองฝอย จากการไอหรือจาม และการสัมผัสเชื้อหรือสารคัดหลั่งผ่านทางตาหรือจมูก โดยเชื้อไวรัสมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกายได้นานประมาณ 24 ชั่วโมง และสามารถอยู่ที่มือของเราได้นานประมาณ 30 นาที พบผู้ป่วยได้ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก เเต่มักพบอาการรุนแรงในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัว มักพบระบาดในช่วงปลายฤดูฝน เเละฤดูหนาว

 

2. อาการ ไวรัส RSV

“...ไอ จาม มีเสมหะจำนวนมาก หายใจไม่สะดวก เหนื่อยหอบ มีเสียงหวีดหวิว และเสียงครืดคราด…”

ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส RSV จะปล่อยเชื้อไวรัสผ่านทางสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ในขณะที่ผู้ที่ได้รับเชื้อ RSV เข้าสู่ร่างกายจะใช้ระยะฟักโรค 3-5 วัน ก่อนเริ่มแสดงอาการ หรืออาจแสดงอาการได้เร็วที่สุดหลังติดเชื้อ 2 วัน เเละช้าที่สุดประมาณ 8 วัน อาการในระยะเเรกจะคล้ายเป็นไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล เเต่จะมีความรุนแรงแตกต่างตามวัยเเละความเสี่ยง โดยผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่แข็งแรง อาการจะไม่รุนเเรงเเละสามารถหายได้เอง เเต่ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคปอด โรคหัวใจ จะจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อเชื้อไวรัส RSV

ทั้งนี้ เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และมีภูมิคุ้มกันต่ำ จะแสดงอาการไม่ต่างจากไข้หวัดธรรมดาเช่นในผู้ใหญ่หรือเด็กโต โดยจะเริ่มต้นจากการเป็นไข้หวัด และอาจลุกลามไปยังทางเดินหายใจส่วนล่างเป็นปอดอักเสบได้ โดยจะมีอาการรุนแรงแตกต่างตามช่วงวัย แบ่งเป็น

1. ทารกคลอดก่อนกำหนด - ทารกช่วงเดือนแรก
- ดูดนมน้อยลง เซื่องซึม อาจมีอาการหยุดหายใจ 

2. เด็กอายุ 2 ปี
-   ในระยะ 1-3 วันแรกจะมีอาการไข้ต่ำ จาม และมีน้ำมูก หลังจากนั้นเริ่มมีอาการไอ หายใจเร็วขึ้น และหายใจลำบาก อาจมีการติดเชื้อของระบบหายใจส่วนล่าง (หลอดลม เนื้อปอด) ได้แก่ ภาวะหลอดลมฝอย หรือหลอดลมส่วนปลายอักเสบ หากเชื้อลุกลามไปยังถุงลมจะเกิดภาวะปอดอักเสบ

3. เด็กอายุ 2-5 ปี 
- ติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างและส่วนบน และเกิดการอักเสบของกล่องเสียงและทางเดินหายใจส่วนบน

อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของเด็กเล็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรงนั้นน้อยมาก เพราะไวรัส RSV ไม่ใช่เชื้อไวรัสที่ร้ายแรง แต่สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักมาจากการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หูอักเสบ ไซนัส หรือปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ซึ่งจะมีอาการรุนแรงมากจนเสียชีวิตได้

 

 

3. กลุ่มเสี่ยง ไวรัส RSV

1. ทารกคลอดก่อนกำหนด
2. ทารกช่วงเดือนแรก
3. เด็กเล็กอายุไม่เกิน 2 ปี
4. เด็กอายุ 2-5 ปี
5. เด็กเล็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ 
6. ผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ 

 

4. วิธีรักษา ไวรัส RSV

ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัส RSV และไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV เน้นการรักษาตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอขับเสมหะ ยาลดน้ำมูก โดยในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลม หรือให้น้ำเกลือผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอดและดูดเสมหะออก หรือเด็กบางรายที่มีอาการของหลอดลมตีบ จะมีการให้ยาพ่นเพิ่มเพื่อขยายหลอดลม ทั้งนี้ ยาปฏิชีวนะไม่มีประโยชน์หากไม่มีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน

ในทารกช่วง 4 เดือนแรก สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ได้ด้วยน้ำนมแม่ และภูมิคุ้มกันจากแม่ที่ส่งผ่านทางสายรก (anti-RSV IgG) จะช่วยลดการติดเชื้อไวรัส RSV ในทารกช่วงแรกเกิดได้

การวินิจฉัยผู้ติดเชื้อไวรัส RSV ทำได้โดยการตรวจภาพถ่ายรังสีปอด และไวรัสวิทยา หริือการตรวจจากน้ำมูก ซึ่งมีโอกาสตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 53-96 และสามารจตรวจวินิจฉัยได้เฉพาะบางโรงพยาบาลเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นในการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยทุกรายเพื่อหาผู้ติดเชื้อไวรัส RSV

ดังนั้น หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจากเชื้อไวรัส RSV และมีอาการหวัด มีเสมหะมาก ไข้สูง ไม่กิน ไม่เล่น เซื่องซึม หายใจเร็วกว่าปกติและมีเสียงหวีด ควรรีบพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ หากมีอาการไม่ร้ายเเรงสามารถรักษาตามอาการที่บ้านได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องนอนในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนจากโรงพยาบาลซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเสียชีวิตในผู้ป่วยจากเชื้อไวรัส RSV และลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัส RSV ให้แก่ผู้อื่นในโรงพยาบาล ทั้งนี้ อาการจะเริ่มดีขึ้นและหายได้เองภายใน 1 - 2 อาทิตย์

 

5. วิธีป้องกัน ไวรัส RSV

เมื่อเด็กเล็กมีอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับโรคทางเดินหายใจ ควรแยกออกจากเด็กปกติทันที รวมถึงแยกของใช้ส่วนตัว และควรหยุดเรียนอย่างน้อย 5-7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น หมั่นล้างมือให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดต่อทางการสัมผัส เพราะการล้างมือจะช่วยลดโอกาสติดเชื้อไวรัส RSV และเชื้ออื่นๆ ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียทุกชนิดที่ติดมากับมือได้มากถึงร้อยละ 70 ใส่หน้ากากอนามัยในที่ที่คนพลุกพล่าน ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ ดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อลดภาวะขาดน้ำและช่วยขับเสมหะออกจากร่างกาย และแยกอุปกรณ์และภาชนะต่าง ๆ ของเด็กแต่ละคน ไม่ใช้ร่วมกัน ทั้งนี้ หากเป็นเด็กเล็กที่ยังไม่หย่านม สามารถให้เด็กดูดนมได้มากที่สุดตามต้องการ 

นอกจากนี้ ผู้ปกครองต้องล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนจับหรือดูแลเด็ก หลีกเลี่ยงการจูบหรือหอมเด็ก เพราะอาจเป็นการแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว งดสูบบุหรี่ทั้งในเเละนอกที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่ออาการภูมิแพ้หรือหอบหืดที่จะเพิ่มความรุนแรงของเชื้อไวรัส RSV จากเขม่า เเละควันบุหรี่ที่ติดกับเสื้อผ้า ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันหากมีการสัมผัสผู้ป่วย ดูแลเด็กให้อยู่ห่างผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อ และไม่นำเด็กไปในที่ชุมชนสถานที่ที่พลุกพล่าน

 

6. ค่ารักษา RSV

ค่ารักษา RSV จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ วิธีการรักษา และโรงพยาบาลที่ให้การรักษา โดยเเพทย์จะตรวจวินิจฉัยอาการเบื้องต้น หากอาการไม่รุนแรงอาจจ่ายยาเพืิ่อรักษาตามอาการ เเละให้พักรักษาต่อที่บ้าน ในขณะที่อาจเสนอให้ Admit อย่างน้อย 2 - 5 วัน เพื่อดูอาการอย่างใกล้ชิดในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือเพื่อความสะดวกในการรักษา และหัตถการ เช่น การดูดเสมหะ การพ่นยาขยายหลอดลม เเละการเคาะปอด ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 10,000 - 100,000 บาท 

 

7. ผลข้างเคียงเมื่อหายจากเชื้อ RSV

เมื่อรักษาหายแล้ว ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส RSV มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้อีก และมีโอกาสที่จะเป็นโรคหอบหืดได้มากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากการติดเชื้อไวรัส RSV จะทําให้เยื่อบุหลอดลมเกิดการบวมและเกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อจากการอักเสบ อาจทําให้เกิดอาการหลอดลมอักเสบ หายใจมีเสียงวีดเมื่อได้รับการติดเชื้อครั้งต่อๆ ไป เเละอาการอาจคล้ายๆ เด็กที่เป็นโรคหอบหืด

นอกจากนั้นแล้ว ระบบทางเดินหายใจจะไวต่อไรฝุ่น ทำให้เกิดอาการหอบได้ง่าย โดยเฉพาะคนที่เป็นภูมิแพ้ ทําให้ต้องรับยาพ่นขยายหลอดลม อย่างไรก็ตามภาวะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างถาวร อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเมือเวลาผ่านไป แต่ในเด็กหลายๆ คน มีพันธุกรรมด้านโรคหอบหืด ภูมิแพ้ อาจมีภาวะหลอดลมอักเสบเวลาเป็นหวัดอยู่นาน หรือกลายเป็นหอบหืดได้ในเวลาต่อมา 

ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าการติดเชื้อไวรัส RSV ทําให้เกิดโรคหอบหืดโดยตรง ทั้งนี้การเกิดโรคหอบหืดสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย รวมถึงปัจจัยทางกรรมพันธุ์ด้วย

 

ประกันสุขภาพเด็ก (Super Kids) ของสินมั่นคงประกันภัย แผนประกันที่พร้อมจะดูแลลูกน้อยของคุณอย่างเต็มที่ ช่วยให้คุณไม่ต้องกังวลกับเรื่องค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุและโรคเด็กสุดฮิตอีกต่อไป สามารถเบิกได้ทั้งแบบผู้ป่วยใน (IPD) และผู้ป่วยนอก (OPD) พร้อมทันตกรรม 2,000 บาทต่อปี สนใจคลิก www.smk.co.th/producthealthdetail/12
สินมั่นคงประกันภัย เราประกัน..คุณมั่นใจ

ข้อมูลจาก  : สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย,  RAMA Channel,
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความที่เกี่ยวข้อง
- ประกันสุขภาพ : ดูแลเด็กไปโรงเรียน ให้ปลอดภัยจากโควิด-19
- ประกันสุขภาพ : วิธีป้องกันไข้เลือดออกในเด็ก..กลุ่มเสี่ยงสูง