ประกันสุขภาพ - ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เตรียมตัวอย่างไรก่อนฉีดวัคซีนโควิด 19?
กลายเป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทยสำหรับการ “ฉีดวัคซีนเพื่อชาติ” ที่ภาครัฐจำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด ซึ่งข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าไว้ว่าจะสามารถฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสภายในปีนี้ แม้จะมีกระแสข่าวการเลื่อนฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ที่ลงทะเบียนผ่านแอปหมอพร้อม แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบก็เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังให้ได้โดยเร็วที่สุด ( ไขข้อสงสัยเรื่องวัคซีนโควิด 19 กับคำตอบจากกรมควบคุมโรค คลิก ) แล้วกลุ่มผู้ป่วยจำเป็นจะต้องมีการเตรียมตัวอย่างไร รวมถึงข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ผู้ป่วยต้องระวังเป็นกรณีพิเศษมีอะไรบ้าง สินมั่นคง ประกันสุขภาพ มีข้อมูลมาบอกค่ะ
1. ข้อควรระวังก่อนฉีดวัคซีน สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
สถาบันโรคทรวงอก ( www.ccit.go.th) ได้ให้คำแนะนำในการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดไว้ดังนี้
• กรณีผู้ป่วยที่เพิ่งมีอาการหรืออาการยังไม่คงที่ หรือยังมีอาการที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบชนิดเฉียบพลัน หรือมีภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดเฉียบพลัน ให้รอจนกว่าอาการจะดีขึ้นและคงที่จึงจะสามารถรับวัคซีนได้ แต่ไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน จำเป็นจะต้องให้แพทย์พิจารณาเป็นรายๆ ไป โดยอาจพิจารณาให้วัคซีนเมื่อผู้ป่วยมีอาการคงที่แล้ว
• กรณีผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงชนิดรุนแรง (มากกว่า 160 mmHg) ควรควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก่อนการฉีดวัคซีน
• กรณีรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ (NOACs) และยาต้านเกล็ดเลือด เช่น Aspirin, Clopidogrel, Ticagrelor หรือ Prasugrel ควรจะต้องมีระดับ INR ที่น้อยกว่า 3 จึงจะสามารถฉีดวัคซีนได้ (ค่า INR คือ อัตราส่วนมาตรฐานที่เลือดเริ่มแข็งตัว ค่าปกติจะอยู่ระหว่าง 0.8-1.1 สำหรับผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดค่าที่เหมาะสมคือ 2.0-3.0) นอกจากนี้ ยังควรใช้เข็มขนาด 23G หรือเล็กกว่า ไม่คลึงกล้ามเนื้อหลังฉีดวัคซีน และควรกดตำแหน่งที่ฉีดหลังการฉีดวัคซีนนาน 2 นาที เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเลือดออกผิดปกติ
2. ข้อควรระวังก่อนฉีดวัคซีน สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
สมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย ( www.thaiaidssociety.org ) ได้ให้คำแนะนำสำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีไว้ดังนี้
• ผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรได้รับวัคซีนโควิด 19 เนื่องจากสามารถป้องกันความรุนแรงจากการติดเชื้อได้ แม้จะยังไม่มีข้อมูลของประสิทธิภาพยืนยันสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากพอ
• การตอบสนองต่อวัคซีนโควิด 19 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับ CD4 (เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ที่ควบคุมและต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย) และปัจจัยทางสุขภาพของผู้รับวัคซีน
• อาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่แตกต่างจากประชาชนในกลุ่มอื่น
• แนะนำให้ผู้ติดเชื้อป้องกันร่างกายวิธีอื่นร่วมด้วยอย่างเคร่งครัด และรับการรักษาด้วยยาต้านเอชไอวีอย่างต่อเนื่อง
• หากพบกว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสรุนแรงอยู่ ควรได้รับการรักษาจนอาการคงที่ก่อน
3. ข้อควรระวังก่อนฉีดวัคซีน สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ( www.nci.go.th) ได้ให้คำแนะนำในการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับผู้ป่วยมะเร็งไว้ดังนี้
• ผู้ป่วยมะเร็งและผู้ดูแล เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีความจำเป็นจะต้องได้รับวัคซีนโควิด 19 โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนและการวินิจฉัยของแพทย์ที่รักษาอยู่
• ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์เม็ดเลือดหรือภูมิคุ้มกันบำบัดโดยวิธี CAR T CELLS (การรักษาโรคมะเร็งที่อาศัยหลักการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันด้วยการนำ Lymphocytes ของผู้ป่วยชนิด T Cells มาดัดแปลงพันธุกรรม) ให้เว้นระยะการให้วัคซีนโควิด 19 อย่างน้อย 3 เดือน
• ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดที่มีฤทธิ์ทำลายเซลล์ เช่น Cytarabine/Anthracycline-Based Induction Regimen ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ (AML) สามารถรับวัคซีนโควิด 19 ได้เมื่อจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลมีระดับปกติ (>1,500 เซลล์ต่อมิลลิลิตร)
• ผู้ป่วยมีภาวะไขกระดูกบกพร่องหรือได้รับการรักษามาเป็นระยะเวลานาน ผู้ที่ได้รับยามะเร็งชนิดมุ่งเป้า ยามะเร็งชนิดภูมิคุ้มกันบำบัด หรือได้รับการฉายรังสี สามารถให้วัคซีนโควิด 19 ได้
• ผู้ที่ได้รับการผ่าตัด ให้รับวัคซีนห่างจากวันผ่าตัดอย่างน้อย 3 วัน
4. ข้อควรระวังก่อนฉีดวัคซีน สำหรับผู้ป่วยโรคระบบประสาท
สถาบันประสาทวิทยา ( www.pni.go.th ) ได้ให้คำแนะนำในการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับผู้ป่วยโรคระบบประสาทไว้ดังนี้
• ผู้ป่วยโรคสมองและระบบประสาทไขสันหลัง ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง จึงควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยผู้ป่วยต้องมีอาการทางประสาทคงที่หรือไม่อยู่ในภาวะอันตรายต่อชีวิตอย่างน้อย 4 สัปดาห์
• ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันระบบประสาทหรือผู้ป่วยกินยากดภูมิคุ้มกัน ห้ามฉีดวัคซีนเชื้อเป็น แต่หากยังไม่ได้เริ่มรับยาให้สามารถฉีดได้เลยทันทีในเข็มแรก และฉีดเข็มต่อไปในอีก 4 สัปดาห์
• ผู้ป่วยโรคลมชัก สามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ แต่ต้องเฝ้าระวังอาการไข้หลังฉีด เพราะอาจไปกระตุ้นให้เกิดการชักได้ ผู้ป่วยโรคอื่นๆ ทางสมองสามารถฉีดได้ตามปกติ
• ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ควรใช้เข็มที่มีขนาดเล็กกว่า 23G และหากกินยาวาร์ฟาร์รินควรมีค่า INR มากกว่า 3
5. ข้อควรระวังก่อนฉีดวัคซีน สำหรับผู้ป่วยโรคไต
สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย (www.nephrothai.org) ได้ให้คำแนะนำในการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับผู้ป่วยโรคไตไว้ดังนี้
• ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต (ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างไตทางช่องท้อง) และผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไต ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด 19 และอาจมีอาการป่วยรุนแรง จึงมีความจำเป็นจะต้องรับได้วัคซีนโดยเร็วที่สุด
• แม้ว่าการฉีดวัคซีนให้กับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง อาจสร้างภูมิคุ้มกันได้น้อยกว่าคนทั่วไป ซึ่งทำให้ไม่สามารถป้องกันโรคได้เต็มที่ แต่ก็ยังช่วยลดอัตราความรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิตในคนทั่วไปได้ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจึงยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนด้วยเช่นกัน และยังคงต้องเคร่งครัดกับมาตรการป้องการโรคต่อไป แม้จะได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม
สินมั่นคงประกันภัย ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19
ชวนคุณส่งต่อความห่วงใยให้ครอบครัวเพื่อน และคนที่คุณรัก เพื่อรับสิทธิ์ประกันแพ้วัคซีนโควิด
คุ้มครองท่านละ 100,000 บาท ฟรี! ไม่มีค่าใช่จ่ายใดๆ ตั้งแต่วันนี้ – จนกว่าสิทธิ์จะหมด
(ข้อกำหนดและเงื่อนไขความคุ้มครองเป็นไปตามที่บริษัทฯ กำหนด)
ลงทะเบียนรับสิทธิ์แจกประกันแพ้วัคซีนฟรีได้แล้วที่ www.smk.co.th/covid19_vacine.aspx
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SMK Line Official @smkinsurance หรือ โทร.1596
..ยิ่งฉีดวัคซีนเร็ว ชีวิตยิ่งกลับมาเป็นปกติเร็ว..
สินมั่นคงประกันภัย ..เราประกัน คุณมั่นใจ..