ข่าวสารและบทความ

ประกันสุขภาพ : ไขข้อสงสัยเรื่องวัคซีนโควิด 19 กับคำตอบจากกรมควบคุมโรค

ประกันสุขภาพ : ไขข้อสงสัยเรื่องวัคซีนโควิด 19 กับคำตอบจากกรมควบคุมโรค

 

เป็นที่กังวลใจสำหรับประชาชนกับวิกฤติการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทั้งในแง่สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพจิตใจ ประชาชนส่วนใหญ่ต่างกระหายที่จะรับรู้ข่าวสารต่างๆ อย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที 

ข่าวสารและข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด 19 ที่ถูกเผยแพร่ออกมานั้น ล้วนมีทั้งแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้และข่าวสารที่ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ “วัคซีนโควิด 19” ที่ดูเหมือนจะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤติในครั้งนี้ได้อย่างรวดเร็วและได้ผลที่สุด ( ข้อปฏิบัติ ก่อน ระหว่าง และหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 เตรียมตัวอย่างไร? คลิก ) สินมั่นคง ประกันสุขภาพ จึงรวบรวมประเด็นคำถามและข้อสงสัย พร้อมทั้งคำตอบจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มาไว้ให้แล้วที่นี่ค่ะ

1. หากได้รับวัคซีนโควิด 19 แล้ว เมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้อาการของโรครุนแรงน้อยลงหรือไม่

แม้วัคซีน โควิด 19 จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมด แต่สามารถระงับความรุนแรงของโรคได้เกือบทั้งหมด ดังนั้น ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วยังสามารถรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ แต่จะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก หลังฉีดวัคซีนจึงยังจำเป็นที่จะต้องต้องรักษามาตรการเพื่อป้องกันการติดเชื้อในชุมชนต่อไปอย่างเคร่งครัด จนกว่าจะมีความมั่นใจว่าคนในชุมชนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดมีภูมิคุ้มกันโรคแล้ว ได้แก่ 
    • การสวมหน้ากากอนามัย 
    • เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการไปยังที่ที่มีคนหนาแน่น 
    • ล้างมือบ่อย ๆ 

 

 2. เมื่อฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้ว ร่างกายจะสามารถป้องกันการติดเชื้อที่กลายพันธุ์ไปแล้วได้หรือไม่

วัคซีนโควิด 19 ที่ผลิตขึ้นในปัจจุบันได้รับการพัฒนามาจากเชื้อไวรัสโคโรนาที่ระบาดในช่วงแรก จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ลดลง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของไวรัสกลายพันธุ์ต่อประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดจำเป็นจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกในอนาคต ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าต้องมีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม สำหรับไวรัสที่กลายพันธุ์ซ้ำอีก

3. ระยะห่างของการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 1 กับ เข็มที่ 2 ควรนานเท่าใด

ระยะห่างของการฉีดวัคซีนโควิด 19 ระหว่างเข็มที่ 1 และ เข็มที่ 2 ของวัคซีนโควิด 19 ทั้ง 2 ชนิดนั้น มีระยะเวลาที่ต่างกัน ดังนี้
    • Sinovac 2-4 สัปดาห์ 
    • AstraZeneca 10-12 สัปดาห์ และพิจารณาให้เลื่อนได้ถึง 16 สัปดาห์ถ้าจำเป็น

หากมีเหตุขัดข้อง ไม่สามารถมารับวัคซีนได้ตามกำหนดหรือล่าช้าไปกว่ากำหนด ให้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อขอรับวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 2 โดยเร็วที่สุด ไม่จำเป็นต้องเริ่มฉีดใหม่ สามารถนับต่อเนื่องจากเข็มแรกไปได้เลย


    4. ผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคโควิด 19 มาก่อน จำเป็นจะต้องได้รับวัคซีนโควิด 19 อีกหรือไม่ หรือหากมีความประสงค์จะรับวัคซีน สามารถทำได้หรือไม่

สำหรับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคโควิด 19 แม้จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด 19 ในร่างกายแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ จึงควรรับวัคซีนโควิด 19 แม้ว่าจะเคยเป็นโรคโควิด19 มาก่อนก็ตาม โดยเว้นระยะห่างจากการติดเชื้อไปอย่างน้อย 3 เดือน และไม่จำเป็นต้องตรวจการติดเชื้อก่อนฉีดวัคซีน 

นอกจากนี้ แม้จะมีประวัติเคยได้รับเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโรคโควิด 19 มาก่อน ก็ไม่ทำให้ได้รับอันตรายจากการฉีดวัคซีน โดยอาจพิจารณาฉีดเพียง 1 เข็ม เพราะจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้อย่างเพียงพอ

 5. วัคซีนโควิด 19 ต่างชนิด ยี่ห้อ หรือผู้ผลิต สามารถฉีดสลับกัน (Interchangeable) ได้หรือไม่

ในขณะนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยังคงแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด 19 ชนิดเดิมไปก่อน จนกว่าจะมีการศึกษาวิจัยออกมาเพิ่มเติม ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถหาวัคซีนชนิดเดิมฉีดได้ หรือมีอาการอันไม่พึงประสงค์หลังจากฉีดวัคซีนชนิดแรก

.
 6. ข้อห้ามและข้อควรระวังในการฉีดวัคซีนโควิด 19 มีอะไรบ้าง

เนื่องจากวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนชนิดใหม่ จึงยังไม่มีข้อมูลเรื่องอาการแพ้วัคซีนที่พบได้บ่อย จึงควรได้รับวัคซีนโควิด 19 ในสถานพยาบาลหรือในสถานที่ที่มีเจ้าหน้าที่และเครื่องมือช่วยเหลือกรณีมีปฏิกิริยาแพ้รุนแรง และควรเฝ้าระวังอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาที และไม่ควรฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มบุคคลที่มีอาการดังต่อไปนี้

    • มีอาการป่วยหรือร่างกายอ่อนเพลียจากสาเหตุต่าง ๆ แนะนำให้เลื่อนฉีดวัคซีนไปก่อนจนกว่าอาการจะเป็นปกติ
    • บุคคลที่กลุ่มอายุไม่ได้รับการรับรอง
    • หญิงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก (แต่ฉีดในหญิงหลังคลอดหรือให้นมบุตรได้)
    • ผู้ที่มีโรคประจำตัวรุนแรงที่อาจมีอันตรายถึงชีวิต อาการยังไม่คงที่ มีโรคกำเริบ นอกจากแพทย์ประจำตัวจะประเมินว่าฉีดได้

7. กรณีที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วมีอาการชา แขนขาอ่อนแรง เวียนหัว คลื่นไส้ ความดันสูงขึ้นกว่าปกติ และมีอาการชาที่ใบหน้าเล็กน้อย สามารถรับวัคซีนครั้งที่ 2 ได้หรือไม่

อาการชา แขนขาอ่อนแรง หรืออาการที่คล้ายอาการของระบบประสาทอื่น ๆ เป็นเพียงอาการไม่พึงประสงค์ชั่วคราวและสามารถหายได้เป็นปกติ อาการเหล่านี้ไม่เป็นข้อห้ามในการฉีดวัคซีนเดิมเข็มที่ 2 แต่หากมีอาการรุนแรงหรือมีความกังวลว่าจะแพ้วัคซีนชนิดเดิมรุนแรง ควรเปลี่ยนชนิดของวัคซีนในเข็มที่ 2 (อาการหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นอย่างไร? แบบไหนคืออาการแพ้วัคซีนโควิด? คลิก


8. กรณีมีอายุเกิน 60 ปี แต่มีอาการแพ้วัคซีนของ AstraZeneca จะสามารถฉีดวัคซีนของ Sinovac ได้หรือไม่ และควรเว้นช่วงห่างเท่าไร

สามารถให้วัคซีนของ Sinovac ทดแทนได้ โดยเว้นช่วงห่าง 10-16 สัปดาห์ (ตามการเว้นระยะห่างของวัคซีนของ  AstraZeneca เข็มที่ 1 และ เข็มที่ 2)  โดยการเว้นช่วงห่างระหว่างวัคซีนเข็มที่ 2 จากวัคซีนเข็มที่ 1 กรณีเปลี่ยนชนิดของวัคซีน ให้พิจารณาตามชนิดของวัคซีนที่ฉีดเป็นเข็มที่ 1 เป็นหลัก

 

สินมั่นคงประกันภัย ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ชวนคุณส่งต่อความห่วงใยให้ครอบครัวเพื่อน และคนที่คุณรัก เพื่อรับสิทธิ์ประกันแพ้วัคซีนโควิด คุ้มครองท่านละ 100,000 บาท
ฟรี! ไม่มีค่าใช่จ่ายใดๆ ตั้งแต่วันนี้ – จนกว่าสิทธิ์จะหมด
(ข้อกำหนดและเงื่อนไขความคุ้มครองเป็นไปตามที่บริษัทฯ กำหนด)

ลงทะเบียนรับสิทธิ์แจกประกันแพ้วัคซีนฟรีได้แล้วที่ www.smk.co.th/covid19_vacine.aspx 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SMK Line Official @smkinsurance หรือ โทร.1596

..ยิ่งฉีดวัคซีนเร็ว ชีวิตยิ่งกลับมาเป็นปกติเร็ว..
สินมั่นคงประกันภัย ..เราประกัน คุณมั่นใจ..