ข่าวสารและบทความ

ประกันรถยนต์ : “แบตเตอรี่แห้ง” คืออะไร? แบบไหนดีกว่ากัน?

ประกันรถยนต์ : “แบตเตอรี่แห้ง” คืออะไร? แบบไหนดีกว่ากัน?

 

“แบตเตอรี่แห้ง” (Sealed Maintenance Free Car Battery - SMF) คือ แบตเตอรี่รถยนต์รูปแบบหนึ่งที่ไม่ต้องเติมน้ำกลั่นเพิ่มตลอดอายุการใช้งาน นับเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของแบตเตอรี่รถยนต์ในปัจจุบันที่มีให้เลือกหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่รถยนต์แบบดั้งเดิมที่ต้องคอยเติมน้ำกลั่นหรือที่รู้จักกันในชื่อ “แบตเตอรี่น้ำ” (Conventional Battery) หรือแบตเตอรี่รุ่นใหม่ที่ไม่ต้องเติมน้ำกลั่นบ่อยๆ แบบ “แบตเตอรี่กึ่งแห้ง” (Maintenance Free Car Battery - MF) แล้วแบตเตอรี่แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร? สินมั่นคง ประกันรถยนต์ มีข้อมูล “แบตเตอรี่แห้ง” มาฝากค่ะ

 

 

สารบัญบทความ
1. “แบตเตอรี่แห้ง” คืออะไร
2. “แบตเตอรี่แห้ง” มีกี่ประเภท 
3. “แบตเตอรี่แห้ง” แตกต่างจากแบตเตอรี่กึ่งแห้งยังไง
4. “แบตเตอรี่แห้ง” หรือแบตเตอรี่น้ำ เลือกแบบไหนดี
5. “แบตเตอรี่แห้ง” อายุการใช้งานเท่าไร
6. “แบตเตอรี่แห้ง” ชาร์จได้ไหม
7. “แบตเตอรี่แห้ง” ยี่ห้อไหนดี

 


1. “แบตเตอรี่แห้ง” คืออะไร?

แบตเตอรี่แห้ง (Sealed Maintenance Free Car Battery - SMF) คือ แบตเตอรี่แบบกรดตะกั่วอีกประเภทหนึ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อลดขั้นตอนในการดูแลรักษาแบตเตอรี่รถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการที่ไม่มีช่องสำหรับเปิด-ปิดเพื่อเติมน้ำกลั่นแบบที่มีในแบตเตอรี่รถยนต์ทั่วไป ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่น้ำกรดภายในแบตเตอรี่จะรั่วไหลออกมาทำลายเครื่องยนต์ ตลอดจนอายุการใช้งานของแบตเตอรี่แห้งที่มากกว่าแบตเตอรี่น้ำ ทำให้แบตเตอรี่ประเภทนี้มีราคาสูงกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป

อย่างไรก็ตามแบตเตอรี่แห้ง อาจไม่ได้แห้งสนิทตามชื่อที่เรียก เพราะภายในแบบเตอรี่แห้งบางรุ่นหรือบางยี่ห้ออาจจะมีของเหลวที่ทำหน้าที่เป็นอิเล็กโทรไลต์ของแบตเตอรี่แห้งปนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกรดแบบตะกั่ว หรือของเหลวที่มีลักษณะคล้ายเจล ซิลิโคน หรือแป้งน้ำ (Paste) ซึ่งการใช้เจลเป็นตัวอิเล็กทรอไรต์แทนน้ำกรดนั้นจะช่วยลดอัตราการสูญเสียน้ำ เเละเพิ่มการกักเก็บแก๊สไฮโดรเจนและออกซิเจนที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้งานให้แปรสภาพกลับไปเป็นน้ำ ทำให้ลดความถี่ในการเติมน้ำกลั่น หรือไม่ต้องเติมน้ำกลั่นเพิ่มเติมตลอดอายุการใช้งาน ดังที่เห็นได้จากแบตเตอรี่แบบแห้งส่วนใหญ่จะไม่มีรูสำหรับเติมน้ำกลั่น

 

“แบตเตอรี่แห้ง” เป็นที่รู้จักเเละถูกเรียกโดยย่อในหลากหลายชื่อ เช่น แบตเตอรี่แบบไม่ต้องเติมน้ำกลั่น, แบตเตอรี่แบบซีล (Sealed Maintenance Free) หรือแบตเตอรี่ VRLA (Valve Regulated Lead Acid) แต่มักถูกเข้าใจผิดกับ “แบตเตอรี่เมนเทแนนซ์ฟรี” (Maintenance Free Car Battery - MF) หรือมักถูกเรียกโดยทั่วไปว่า “แบตเตอรี่กึ่งแห้ง” ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่ยังสามารถเติมน้ำกลั่นได้อยู่ เเต่มีการระเหยตัวของน้ำกรดที่ช้ากว่าแบตเตอรี่น้ำ ทำให้ไม่จำเป็นต้องเติมน้ำกลั่นบ่อยครั้ง เเละอายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 1 - 2 ปี หรือไม่เกิน 3 ปี

ทั้งนี้ แบตเตอรี่แห้งจะได้รับการเติมน้ำกรดและชาร์จไฟตามมาตรฐานโรงงานผลิตมาเรียบร้อยเเล้ว ทำให้สามารถจัดจำหน่ายเเละนำไปใช้งานได้ทันที อย่างไรก็ตามหากแบตเตอรี่ดังกล่าวถูกเก็บไว้มากกว่า 6 เดือนขึ้นไป ควรต้องตรวจเช็กไฟในแบตเตอรี่ก่อนนำไปใช้งาน เนื่องจากไฟในแบตเตอรี่อาจอ่อนลง รวมถึงก่อนการติดตั้งเพื่อใช้งาน ควรต้องชาร์จไฟเพื่อรักษาความคงทนของแบตเตอรี่ไว้ด้วย

กลับสู่สารบัญบทความ
 

 

2. “แบตเตอรี่แห้ง” มีกี่ประเภท?

    แบตเตอรี่แห้งสามารถแบ่งประเภทได้จากรูปแบบของสารละลายอิเล็กโทรไลต์ภายในเซลล์แบตเตอรี่ มีรายละเอียดดังนี้

1) แบตเตอรี่แห้งแบบ AGM (Absorbent Glass Mat)

แบตเตอรี่แห้งแบบ AGM (Absorbent Glass Matt) จัดเป็นแบตเตอรี่ตะกั่วกรดชนิดพิเศษที่มีเทคโนโลยีแผ่นกั้นใยแก้วพิเศษ ช่วยลดการระเหยของน้ำและช่วยดูดซับน้ำกรดได้เป็นอย่างดีในกรณีที่รถยนต์อยู่ในสภาวะสั่นมาก หรือกรณีที่แบตเตอรี่แตก น้ำกรดจะถูกดูดซับเอาไว้เเละไม่ไหลออกมาสร้างความเสียหายให้กับรถยนต์

แบตเตอรี่แห้งแบบ AGM ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับนวัตกรรมยานยนต์ในปัจจุบันที่ต้องการแหล่งพลังงานประสิทธิภาพสูง เช่นรถยนต์รุ่นใหม่จากบริษัทชั้นนำในเเถบยุโรป ปัจจุบันอาจพบว่าแบตเตอรี่ดังกล่าวไม่เป็นที่นิยมใช้งานในในเเถบเอเชียมากนัก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทย่อย ได้แก่ 

- แบตเตอรี่ SLA (Sealed Lead Acid) หรือแบตเตอรี่แบบปิดผนึก มักพบใช้ในงานอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมากกว่านำมาใช้ในรถยนต์

- แบตเตอรี่ VRLA (Valve Regulate Lead Acid) หรือแบตเตอรี่แบบมีวาล์วระบายแรงดันภายใน ที่จะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับแบตเตอรี่ ในกรณีที่เกิดแรงดันภายในสูงเกินไป เช่น การเกิดภาวะกระแสไฟเกิน (Over Charge) ซึ่งแบตเตอรี่ประเภทนี้มักเป็นแบตเตอรี่แห้งแบบ AGM ที่นิยมนำมาใช้ในรถยนต์ เนื่องจากสามารถเก็บและจ่ายกระแสไฟฟ้าเป็นเวลาต่อเนื่องได้นานกว่า 

อย่างไรก็ตาม แบตเตอรี่แห้งแบบ AGM ส่วนใหญ่ในท้องตลาด จะมีราคาสูงกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป อีกทั้งยังมีข้อจำกัดด้านอุณหภูมิระหว่างการใช้งาน เเละมีอายุการใช้งานสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ขาดการชาร์จไฟ จนเกิดภาวะการกระชากไฟรุนแรง (Over-discharge) เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นได้ในแบตเตอรี่ทั่วไป

2) แบตเตอรี่แห้งแบบเจล

แบตเตอรี่แห้งแบบเจล คือแบตเตอรี่ที่มีตัวอิเล็กโทรไลต์ในรูปของเจล มีความคงทนต่ออุณหภูมิการใช้งานที่กว้างทั้งในอุณหภูมิที่เย็นและร้อน จึงเป็นที่นิยมใช้งานในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น เนื่องจากตัวอิเล็กโทรไลต์ในรูปของเจลจะไม่จับตัวเเข็งเมื่อเจอกับสภาพอากาศหนาวจัด

 

อย่างไรก็ตาม แบตเตอรี่แห้งแบบ AGM ส่วนใหญ่ในท้องตลาด จะมีราคาสูงกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป อีกทั้งยังมีข้อจำกัดด้านอุณหภูมิระหว่างการใช้งาน เเละมีอายุการใช้งานสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ขาดการชาร์จไฟ จนเกิดภาวะการกระชากไฟรุนแรง (Over-discharge) เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นได้ในแบตเตอรี่ทั่วไป

กลับสู่สารบัญบทความ

 

3. “แบตเตอรี่แห้ง” แตกต่างจากแบตเตอรี่กึ่งแห้งยังไง?

แบตเตอรี่แห้ง (Sealed Maintenance Free Car Battery - SMF) จะไม่ต้องเติมน้ำกลั่นเลยตลอดอายุการใช้งาน ทำให้ไม่มีช่องสำหรับเปิด-ปิดเพื่อเติมน้ำกลั่น ในขณะที่แบตเตอรี่กึ่งแห้ง (Maintenance Free Car Battery - MF) ยังต้องเติมน้ำกลั่นอยู่ ทำให้มีช่องสำหรับเปิด-ปิดเพื่อเติมน้ำกลั่น จึงจะมีอัตราการระเหยของน้ำกลั่นที่น้อยกว่าแบตเตอรี่น้ำ (Conventional Battery) 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแบตเตอรี่แห้งเเละแบตเตอรี่กึ่งแห้งจะมีราคาสูงกว่าแบตเตอรี่แบบน้ำ เเต่เเบตเตอรี่ทั้งสองกลุ่มจัดเป็นแบตเตอรี่รถยนต์ที่ดูแลรักษาง่าย มีประสิทธิภาพที่สูงกว่าแบตเตอรี่แบบน้ำ เเละมีมาตรฐานการผลิตเท่ากันทุกลูกจากการที่ได้รับการเติมน้ำกรดเเละชาร์จไฟตามมาตรฐานโรงงานผลิต 

กลับสู่สารบัญบทความ

 


4. “แบตเตอรี่แห้ง” หรือแบตเตอรี่น้ำ เลือกแบบไหนดี?

แบตเตอรี่แห้ง (Sealed Maintenance Free Car Battery - SMF) ไม่ต้องคอยเติมน้ำกรดหรือน้ำกลั่นแต่อย่างใดตลอดอายุการใช้งาน มีน้ำหนักที่เบากว่าแบตเตอรี่น้ำ (Conventional Battery) และสามารถวางแบตเตอรี่แห้งในทิศทางใดก็ได้โดยที่สารเคมีจะไม่หกไหลออกมา เนื่องจากแบตเตอรี่แห้งได้รับการซีลห่อหุ้มไว้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามแบตเตอรี่แห้งจะมีราคาสูงกว่าแบตเตอรี่น้ำ รวมถึงแบตเตอรี่แห้งเป็นแบตเตอรี่ระบบปิดที่มีช่องระบายเพียงช่องเดียวและมีขนาดเล็ก จึงทำให้มีโอกาสอุดตันได้โดยง่าย และเมื่ออุดตันจะเกิดปัญหาแรงดันภายในหรือความร้อนสะสมมาก หากเป็นแบตเตอรี่แห้งแบบปิดผนึกซีล เมื่อซีลหลุดลอกอาจทำให้ความชื้นเข้าสะสมภายในและทำความเสียหายให้กับแบตเตอรี่ได้

กลับสู่สารบัญบทความ

 

 


5. “แบตเตอรี่แห้ง” อายุการใช้งานเท่าไร?

อายุการใช้งานของแบตเตอรี่แห้งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 1.5 - 2.5 ปี ขึ้นอยู่กับยี่ห้อเเละสภาพการใช้งาน หรือคิดเป็นระยะทางในการขับขี่ประมาณ 50,000 - 70,000 กิโลเมตร ซึ่งมากกว่าอายุการใช้งานของแบตเตอรี่แบบน้ำที่ต้องคอยเติมน้ำกลั่น และอาจใช้งานต่อเนื่องได้ถึง 5-10 ปี หากได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้อายุการใช้งานของแบตเตอรี่แห้งสั้นลงมีหลายสาเหตุ เช่น 

    1) อุณหภูมิที่ร้อนเกินไป เมื่อมีการใช้งานแบตเตอรี่แห้งด้วยอุณหภูมิที่สูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายวัน อาจทำให้น้ำกรดภายในแบตเตอรี่แห้งระเหยได้เร็วกว่าปกติ 

    2) ระบบไฟฟ้าของรถยนต์ที่ไม่เสถียร จากการปรับเเต่งอุปกรณ์ที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าภายในรถยนต์เพิ่มเติม ทำให้ระบบไฟฟ้าภายในรถยนต์ไม่คงที่ หรือไม่เพียงพอ ส่งผลทำให้แบตเตอรี่แห้งทำงานหนักมากกว่าปกติ

    3) ไม่ชาร์จไฟ หรือชาร์จไฟไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการชาร์จไฟฟ้าด้วยอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน การชาร์จกระเเสไฟได้ไม่ถึงตามข้อกำหนกการใช้งาน การไม่ตัดกระแสไฟฟ้าเมื่อชาร์จแบตเตอรี่แห้งเต็ม หรือการปล่อยให้แบตเตอรี่หมดประจุไฟบ่อยครั้ง ล้วนมีส่วนทำให้อายุการใช้งานของแบตเตอรี่แห้งสั่นลงกว่าที่ควรจะเป็นทั้งสิ้น

ทั้งนี้ แบตเตอรี่จะมีอายุการใช้งานที่ยาวขึ้นหากเก็บรักษาในที่ที่มีอุณหภูมิและความชื้นต่ำ เนื่องจากอุณหภูมิสูงจะทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ได้โดยง่าย ดังนั้นควรเลือกซื้อจากร้านที่เก็บ รักษาแบตเตอรี่อย่างเหมาะสม เช่น ติดเครื่องปรับอากาศ ซึ่งจะช่วยให้แบตเตอรี่มีอายุการใช้งานตามที่ควรจะเป็น 

กลับสู่สารบัญบทความ

 


6. “แบตเตอรี่แห้ง” ชาร์จได้ไหม?

    แบตเตอรี่แห้งสามารถชาร์จไฟฟ้าได้ เนื่องจากแบตเตอรี่แห้งจะได้รับการเติมน้ำกรดและชาร์จไฟตามมาตรฐานโรงงานผลิตมาเรียบร้อยเเล้ว ทำให้สามารถจัดจำหน่ายเเละนำไปใช้งานได้ทันที แต่หากแบตเตอรี่ดังกล่าวถูกเก็บไว้มากกว่า 6 เดือนขึ้นไป ควรต้องเช็กไฟในแบตเตอรี่ก่อนนำไปใช้งาน เนื่องจากไฟในแบตเตอรี่อาจอ่อนลง รวมถึงก่อนการติดตั้งเพื่อใช้งาน ควรต้องชาร์จไฟเพื่อรักษาความคงทนของแบตเตอรี่ไว้ 

กลับสู่สารบัญบทความ

 

 

7. “แบตเตอรี่แห้ง” ยี่ห้อไหนดี?

ผู้จัดจำหน่ายแบตเตอรี่แห้งในประเทศไทย ได้แก่ Bosch, 3K, FB, Puma และ Amaron ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบรนด์เก่าแก่จากต่างประเทศที่รู้จักกันเป็นอย่างดี หรือแบรนด์ใหม่ที่นำเสนอแบตเตอรี่แห้งในหลากหลายรุ่นให้เลือกตามความต้องการใช้งาน

กลับสู่สารบัญบทความ


แบตเตอรี่แต่ละประเภทล้วนมีจุดเด่น-จุดด้อยที่แตกต่างกันไป ซึ่งต้องพิจารณาความเหมาะสมจากความต้องการเเละลักษณะการใช้งานของผู้ขับขี่ หากต้องการแบตเตอรี่ที่คงทน ราคาถูกเเละหาซื้อได้สะดวก แบตเตอรี่น้ำ (Conventional Battery) นับเป็นทางเลือกเเรก เเต่ต้องหมั่นเติมน้ำกลั่นอยู่เสมอ ในขณะที่หากต้องการการดูแลที่ไม่ยุ่งยาก เเละไม่มีปัญหาเรื่องราคา แบตเตอรี่แห้ง (Sealed Maintenance Free Car Battery - SMF) หรือแบตเตอรี่กึ่งแห้ง (Maintenance Free Car Battery - MF) ถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมเช่นกัน

 

เมื่อเลือกแบตเตอรี่ที่เหมาะสมกับการใช้งานได้แล้ว อย่าลืมลดความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดจากอุบัติเหตุระหว่างการขับขี่ ด้วย “ประกันภัยรถยนต์คนดีฯ” ประกันรถยนต์ชั้น 1 โปรไฟล์ยิ่งดี เบี้ยประกันยิ่งถูก เริ่มต้น 6,999 บาท โปรไฟล์ดี มีค่าเป็นส่วนลด ซื้อง่าย สนใจรายละเอียด คลิก www.smk.co.th/premotor.aspx

สินมั่นคงประกันรถยนต์ ..เราประกัน คุณมั่นใจ..

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

- ประกันรถยนต์: การสังเกตแบตเตอรี่รถยนต์เสื่อมสภาพ และวิธีดูแลรักษา
- ประกันรถยนต์ : เลือกแบตเตอรี่รถยนต์แบบไหนดี?
- ประกันรถยนต์ : การต่อพ่วงแบตเตอรี่ที่ถูกต้อง