ข่าวสารและบทความ

ประกันสุขภาพ : “โรคฉี่หนู” คืออะไร? อันตรายไหม?

ประกันสุขภาพ : “โรคฉี่หนู” คืออะไร? อันตรายไหม?

“โรคฉี่หนู” นับเป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่มักพบได้ทั่วไปในช่วงหน้าฝน เนื่องจากเชื้อโรคจะเเพร่กระจายได้ดีในพื้นที่น้ำขัง หรือพื้นที่ปศุสัตว์ อาการทั่วไปคล้ายกับอาการไข้หวัด หรือโรคไข้เลือดออกซึ่งโดยปกติแล้วสามารถหายได้เอง แต่อาจเกิดภาวะอวัยวะทำงานล้มเหลว หรือเสียชีวิตได้จากกรณีที่ัเข้ารับการรักษาล่าช้า หรือ เกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรง สินมั่นคง ประกันสุขภาพ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ โรคฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) มาฝาก

 

สารบัญบทความ
1. โรคฉี่หนู คืออะไร?
2. ใครมีความเสี่ยงเป็นโรคฉี่หนูได้บ้าง?
3. สังเกตอาการโรคฉี่หนูได้อย่างไร?
4. อาการของโรคฉี่หนูมีอะไรบ้าง?
5. วิธีรักษาโรคฉี่หนูทำได้อย่างไรบ้าง?

 

1. โรคฉี่หนู คืออะไร?

โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Leptospira interrogans จัดเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่อาจมีอันตรายถึงชีวิต ผู้ป่วยโรคดังกล่าวจะได้รับเชื้อจากการสัมผัสเลือดหรือปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงเพื่อการเกษตร และสัตว์เลี้ยงภายในบ้านที่ติดเชื้อโรคฉี่หนู ผ่านทางรอยแผล รอยขีดข่วน รอยถลอกบริเวณผิวหนัง ตลอดจนเยื่อบุตา จมูก ปาก ที่เกิดจากการทำกิจกรรมในพื้นที่ชื้นแฉะ มีน้ำท่วมขัง ตลอดจนติดเชื้อจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป

กลับสู่สารบัญบทความ

 

 

2. ใครมีความเสี่ยงเป็นโรคฉี่หนูได้บ้าง?

ผู้ที่ติดเชื้อโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู มักมีแนวโน้มที่จะได้รับเชื้อจากการสัมผัสเชื้อใน 3 แหล่งสำคัญ ได้แก่ การสัมผัสกับปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงเพื่อการเกษตร และสัตว์เลี้ยงภายในบ้านที่ติดเชื้อโรคฉี่หนูจากพื้นดิน เช่น สุนัขหรือแมว แม้แต่การสัมผัสเชื้อโดยตรงจากพื้นที่น้ำท่วมขัง เช่น ดิน โคลน แหล่ง น้ำ น้ำตก แม่น้ำ หรือลำคลอง และการรับประทานอาหารดิบที่ปนเปื้อนเชื้อโรคฉี่หนู เช่น เครื่องในดิบของสัตว์ พืชผัก ทั้งนี้ สามารถจำแนกผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคฉี่หนูได้ดังนี้

    • ผู้ที่ทำงานใกล้ชิด หรือสัมผัสสัตว์ และ/หรือปฏิบัติงานในพื้นที่น้ำท่วมขัง เช่น เกษตรกร ผู้ที่ทำงานปศุสัตว์ คนงานโรงฆ่าสัตว์ สัตวแพทย์ คนงานเหมืองแร่ หรือคนขุดลอกท่อ
    • ผู้ประสบอุทกภัย หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง
    • ผู้ที่ทำกิจกรรม หรือเล่นกีฬาทางน้ำ
    • นักท่องเที่ยวหรือนักสำรวจถ้ำที่ต้องเดินทาง หรือออกสำรวจในพื้นที่น้ำท่วมขัง

กลับสู่สารบัญบทความ

 

3. สังเกตอาการโรคฉี่หนูได้อย่างไร?

การแบ่งกลุ่มของผู้ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ป่วยจากโรคฉี่หนู หรือเป็นโรคฉี่หนูแล้วนั้น สามารถพิจารณาได้หลายวิธี เช่น การสังเกต การซักประวัติผู้ป่วย หรือการส่งเชื้อตรวจทางพยาธิวิทยาในห้องทดสอบ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีลักษณะอาการ และวิธีการดูแลรักษาที่แตกต่างกันออกไป โดยสามารถแบ่งกลุ่มผู้มีความเสี่ยงเป็นโรคฉี่หนูได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

    • ผู้ป่วยต้องสงสัย (Suspected Case) คือ ผู้ที่มีอาการไข้ร่วมกับอาการปวดกล้ามเนื้อ มีประวัติการลุยน้้า หรือโคลนในระยะเวลาที่ผ่านมาไม่นาน นอกจากนั้นยังพบกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้อง เช่น อาการปวดศีรษะ ตาแดง ไอ ตาเหลืองตัวเหลือง หรือปัสสาวะออกน้อยร่วมด้วย

    • ผู้ป่วยน่าจะเป็น (Probable Case) คือ ผู้ป่วยต้องสงสัยที่มีผลการตรวจคัดกรอง (Screening Test) เป็นบวกในโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis)
หรือผู้ป่วยต้องสงสัยที่มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ร่วมกับอาการไตวาย หรือมีอาการเลือดออกในปอด และมีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพื้นฐานบ่งชี้เชื้อโรคฉี่หนูอย่างน้อยสองในสามอย่าง

    • ผู้ป่วยยืนยัน (Confirmed Case) คือ ผู้ที่มีอาการไข้และมีประวัติการลุยน้้า หรือโคลนในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นาน และมีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยัน (Confirmatory Test)

กลับสู่สารบัญบทความ

 

4. อาการของโรคฉี่หนูมีอะไรบ้าง?

สามารถแบ่งระยะของอาการโรคฉี่หนู ได้ 2 ระยะสำคัญ คือ 1) ระยะเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด หรือระยะที่จะมีอาการไข้สูง 28 - 40 องศา ปวดศีรษะ หรือปวด/เจ็บกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงมากในทันทีภายหลังจากการรับเชื้อโรคฉี่หนู และ 2) ระยะร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน หรือระยะที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ โดยผู้ป่วยจะยังมีไข้ขึ้น ปวดศีรษะ อาจมีอาการคอแข็ง หรือมีการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง และพบเชื้อโรคออกมาในปัสสาวะ

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยโรคหนูเสียชีวิต มักเกิดการแสดงอาการไม่เฉพาะเจาะจงในระยะแรกของการเป็นโรคฉี่หนู เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียนหรือท้องเสีย ซึ่งมีความคล้ายกับโรคไข้หวัด หรือโรคไข้เลือดออก ทำให้อาจวินิจฉัยและให้การรักษาได้ล่าช้ากว่าที่ควร หรืออาจเป็นผู้ป่วยที่มีอาการของโรคฉี่หนูรุนแรง โดยมีจุดสังเกตสำคัญจากอาการตัวเหลืองตาเหลือง ไข้สูงไม่ลด ไตวาย และอาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่อวัยวะสำคัญต่างๆ

ทั้งนี้ อาการของโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู และอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นมีดังนี้

    • ไข้เฉียบพลัน
    • ปวดศีรษะ
    • ปวดเมื่อย/ปวดน่อง
    • ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง
    • คลื่นไส้อาเจียน
    • อาการตัวเหลืองตาเหลือง หรือดีซ่าน
    • ผื่นที่เพดานปาก มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง
    • ปอดบวม
    • ตับและไตวาย
    • กล้ามเนื้ออักเสบ
    • ไอเป็นเลือด
    • เยื่อหุ้มสมอง และไขสันหลังอักเสบ
    • กล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
    • หัวใจล้มเหลว

กลับสู่สารบัญบทความ

 

5. วิธีรักษาโรคฉี่หนูทำได้อย่างไรบ้าง?

การรักษาผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือ โรคฉี่หนู จะเน้นการให้ยาปฏิชีวนะ ร่วมกับการรักษาตามอาการและภาวะแทรกซ้อนตามความเหมาะสม เนื่องจากโรคฉี่หนูจะสามารถหายได้เอง
แต่หากมีอาการของโรค หรืออาการแทรกซ้อนรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาทำการฉีดยาปฏิชีวนะเข้าสู่เส้นเลือดโดยตรง และอาจต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจเกิดภาวะอวัยวะล้มเหลวเฉียบพลันได้ ทั้งนี้ สามารถแบ่งรูปแบบของการรักษาผู้ป่วยในแต่ละกลุ่มด้วยยาปฏิชีวนะ ดังนี้

    • ผู้ที่มีอาการรุนแรง ควรให้ยา Penicillin, Tetracycline, Streptomycin หรือ Erythromycin และควรจะได้รับยาภายใน 4 -7 วันหลังเกิดอาการของโรค

    • ผู้ที่มีอาการปานกลาง ควรให้ยา Doxycycline จำนวน 100 mg. วันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 7 วัน หรือ Amoxicillin จำนวน 500 mg. วันละ 4 ครั้ง 5-7 วัน

    • ผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนไม่ร้ายแรง ควรให้ยาตามอาการ เช่น ยาลดไข้, ยาแก้ปวด, ยากันชัก,ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน รวมถึงการให้สารน้ำ เกลือแร่ หรือเกร็ดเลือด

กลับสู่สารบัญบทความ

 

การตรวจวินิจฉัยโรคฉี่หนูได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วจะช่วยให้แพทย์สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ลดโอกาสเสี่ยงเสียชีวิต เลือก “ประกันสุขภาพคุ้มค่า” หรือ “ประกันสุขภาพเอกซ์ตรา” ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย จ่ายค่ารักษาตามจริง เข้าใจง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่จำกัดจำนวนครั้งให้วุ่นวาย ด้วยวงเงินสูงสุด 500,000 บาท เพียง 5,000 บาท/ปี คลิก www.smk.co.th/prehealth

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

- ประกันสุขภาพ : 7 โรคต้องระวัง!! ช่วงฤดูฝน

- ประกันสุขภาพ : วิธีป้องกันไข้เลือดออกในเด็ก..กลุ่มเสี่ยงสูง

- ประกันสุขภาพ : 5 วิธีเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกายในช่วงฝนตกหนัก

ขอบคุณข้อมูลจาก
- สํานักงานสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (https://www.moph.go.th/)
- สถานเสาวภา สภากาชาดไทย (https://www.saovabha.com/)
- สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) (https://www.thaipbs.or.th/)