ประกันอุบัติเหตุ : ใส่เครื่องประดับที่มีทองแดงจะถูกฟ้าผ่าหรือไม่?
“ฟ้าผ่า” คือ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติประเภทหนึ่งที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีที่ช่วยลดความเสี่ยงในการถูกฟ้าผ่า แต่ในหลายครั้งก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตประจำวันในพื้นที่โล่งเเจ้งขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนองและอาจมีโอกาสในการถูกฟ้าฝ่าได้ สินมั่นคง ประกันอุบัติเหตุ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ฟ้าผ่าและวิธีลดความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินมาฝาก
สารบัญบทความ
1. ปัจจัยใดบ้างที่เพิ่มโอกาสในการถูกฟ้าผ่า?
2. เครื่องประดับที่มีส่วนผสมของแร่โลหะ เพิ่มโอกาสโดนฟ้าผ่าจริงหรือไม่?
3. วิธีป้องกันฟ้าผ่าทำได้อย่างไรบ้าง?
1. ปัจจัยใดบ้างที่เพิ่มโอกาสในการถูกฟ้าผ่า?
การยืนในพื้นที่สูงและโล่งแจ้งขณะฝนฟ้าคะนอง นับเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มโอกาสถูกฟ้าผ่า
เนื่องจากความเสี่ยงในการถูกฟ้าผ่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีวัตถุโลหะหรือวัตถุล่อฟ้าอยู่ในร่างกาย แต่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่อยู่และบริเวณโดยรอบเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม หากยืนในพื้นที่สูงและโล่งแจ้งขณะมีเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่เหนือศีรษะ ย่อมมีโอกาสถูกฟ้าผ่าไม่มากก็น้อย แต่วิธีสังเกตว่าตัวเรากำลังอยู่สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกฟ้าผ่า คือ หากรู้สึกว่าเส้นขนบนผิวหนังลุกชัน หรือเส้นผมบนศีรษะลุกตั้ง แสดงว่าอยู่ในสถานการณ์ที่กำลังเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า เนื่องจากเส้นขนและเส้นผมที่มีไฟฟ้าสถิตอยู่ตามปกติกำลังถูกกระแสไฟฟ้าบนท้องฟ้าเหนี่ยวนำอย่างแรง
กลับสู่สารบัญบทความ
2. เครื่องประดับที่มีส่วนผสมของแร่โลหะ เพิ่มโอกาสโดนฟ้าผ่าจริงหรือไม่?
แม้ว่าทองแดง ทองคำ ทองเหลือง หรือแร่กราไฟต์อาจมีคุณสมบัติในการเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าได้ แต่วัตถุที่มีส่วนผสมของแร่ต่างๆ ข้างต้น ไม่นับเป็นสื่อล่อฟ้าผ่าโดยตรง เนื่องจากวัตถุที่อาจเป็นสื่อล่อฟ้าผ่าใส่มนุษย์ได้มากที่สุด คือ วัตถุที่อยู่สูงเหนือจากศีรษะมนุษย์ขึ้นไปและมีลักษณะที่มีปลายแหลม เช่น ปลายบนสุดของร่มที่มีลักษณะเป็นเหล็กแหลม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเครื่องประดับหรือวัตถุที่มีส่วนผสมของแร่โลหะต่างๆ จะไม่ใช่สื่อล่อฟ้าผ่าที่จะส่งผลให้เกิดฟ้าผ่ามายังบริเวณที่วัตถุนั้นๆ ติดตั้งอยู่โดยตรง ตัวอย่างเช่น การที่ฟ้าผ่ามายังสร้อยคอที่มีส่วนผสมของทองแดง แต่วัตถุที่มีคุณสมบัติในการเหนี่ยวนำไฟฟ้าก็มีโอกาสที่จะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าจากบริเวณใกล้เคียงที่ถูกฟ้าผ่ามายังตัวมนุษย์ได้ ซึ่งกระแสเหนี่ยวนำนี้จะทำให้โลหะร้อนขึ้น และอาจทำให้ผิวหนังที่สัมผัสไหม้เกรียมได้
ทั้งนี้ การใช้โทรศัพท์มือถือในบริเวณที่โล่งแจ้งขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง อาจส่งผลให้เกิดกระแสไฟฟ้าเหนี่ยวนำที่ทำให้แบตเตอรี่ลัดวงจรและเกิดการระเบิดจนเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บได้ ซึ่งนับเป็นผลข้างเคียงแต่ไม่ใช่สื่อล่อให้ฟ้าผ่าแต่อย่างใด เนื่องจากเวลาใช้งานโทรศัพท์มือถือจะใช้งานในบริเวณที่อยู่ต่ำกว่าตัวคน รวมถึงสัญญาณโทรศัพท์ก็ไม่สามารถทำให้อากาศแตกตัวเป็นตัวนำได้
กลับสู่สารบัญบทความ
3. วิธีป้องกันฟ้าผ่าทำได้อย่างไรบ้าง?
วิธีป้องกันความเสี่ยงในการถูกฟ้าผ่า คือ การหาสถานที่ปิดเพื่อหลบพายุฝนฟ้าคะนอง โดยต้องไม่สัมผัสกับพื้นผิวที่มีส่วนเชื่อมต่อกับพื้นที่หลบฝน เช่น ภายในตัวอาคารขนาดใหญ่ที่ต้องไม่อยู่ใกล้กับผนังอาคาร ประตู และหน้าต่าง หรือภายในรถยนต์ที่ปิดกระจกมิดชิด แต่ต้องไม่สัมผัสกับตัวถังรถ
ในกรณีที่ไม่สามารถหาสถานที่ปิดเพื่อหลบเลี่ยง และลดความเสี่ยงของการถูกฟ้าผ่าในขณะที่เกิดฝนฟ้าคะนองกันได้ สามารถลดความเสี่ยงในขณะที่อยู่พื้นที่กลางแจ้งได้ด้วยการนั่งในท่าทางที่เหมาะสม ซึ่งการจัดท่านั่งในลักษณะนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงกรณีกระแสไฟฟ้าจากฟ้าผ่าไหลมาตามพื้น โดยสามารถจัดท่านั่งได้ดังนี้
• นั่งยองพร้อมก้มศีรษะ
• ลดตัวให้ต่ำที่สุด
• เท้าชิดกันและเขย่งเล็กน้อย
• ใช้มือปิดหูเพื่อป้องกันเสียงดังจากฟ้าผ่า
ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการหลบอยู่ใต้ต้นไม้สูงในระหว่างที่เกิดฝนฟ้า เนื่องจากวัตถุหรือสิ่งต่างๆ ที่อยู่สูงย่อมมีโอกาสที่จะถูกฟ้าผ่ามากกว่า แม้ว่าจะไม่ได้สัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นไม้ หรือยืนหลบอยู่ใกล้กับต้นไม้ใหญ่ แต่ก็มีโอกาสได้รับอันตรายจากกระแสไฟฟ้าที่กระเด็นจากลำต้นหรือไหลผ่านมาตามพื้น หากจำเป็นต้องยืนหลบพายุฝนฟ้าคะนองใกล้กับต้นไม้ใหญ่ ควรยืนห่างจากโคนต้นไม้และยอดไม้ไม่ต่ำกว่า 3 เมตร เพื่อป้องกันฟ้าผ่าข้ามมาถึงตัว
กลับสู่สารบัญบทความ
แม้ว่าฟ้าผ่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทางธรรมชาติ และไม่สามารถควบคุมได้ แต่สามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ เลือกประกันภัยอุบัติเหตุที่ให้ความคุ้มครอง กรณีประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย โดยให้ความคุ้มครองตลอด 24 ชั่วโมง ทุกแห่งทั่วโลก คลิก www.smk.co.th/productpadetail/2
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ประกันสุขภาพ : 7 โรคต้องระวัง!! ช่วงฤดูฝน
- ประกันสุขภาพ : 5 วิธีเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกายในช่วงฝนตกหนัก
- ประกันสุขภาพ : ดูแลสุขภาพเท้าได้ง่ายๆ หลังลุยน้ำฝนท่วมขัง
ขอบคุณข้อมูลจาก
- ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (https://www.mtec.or.th/)
- ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (https://www.nstda.or.th/)